บทความ : "เด็กนอกระบบ" #4 หัวข้อ “ถ้าครอบครัวมีความรักความผูกพันกัน ถึงจุดหนึ่งเราจะคิดถึงเขา และพยายามเปลี่ยนตัวเอง”

  • 21 กุมภาพันธ์ 2565
“คิม” เลิกเรียนหลังจบชั้น ปวช.ปีที่ 1 ออกมาใช้ชีวิตวัยรุ่นกับกลุ่มเพื่อน เที่ยวเตร่ กลับบ้านบ้าง ไม่กลับบ้าง ..และเสพยาบ้า วันนี้ คิม อายุ 17 ปี ได้มารู้จักและใช้เวลาใน ศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนแห่งขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลนครขอนแก่น โ

“คิม” เลิกเรียนหลังจบชั้น ปวช.ปีที่ 1 ออกมาใช้ชีวิตวัยรุ่นกับกลุ่มเพื่อน เที่ยวเตร่ กลับบ้านบ้าง ไม่กลับบ้าง ..และเสพยาบ้า

วันนี้ คิม อายุ 17 ปี ได้มารู้จักและใช้เวลาใน ศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนแห่งขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลนครขอนแก่น โดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจาก 25 หน่วยงาน 

ในช่วง 3-4 ปี คิมเปลี่ยนไปจนแทบจะจำตัวเองไม่ได้

คิมหยุดใช้ยาเสพติด ไม่ติดเที่ยวเหมือนเมื่อก่อน แต่หันมาใช้เวลากับการทำงาน เก็บเงิน เขาวางแผนอนาคต อยากดูแลคนในครอบครัว

“ผมใช้ยาประมาณหนึ่งปี แต่ไม่ได้ต้องดูดทุกวัน ไม่ได้ขาย แค่สนุกกับเพื่อน ตอนนั้นไม่ค่อยอยู่บ้าน เที่ยวตลอด พอมาเรียน ปวช. เพื่อน ๆ เลิกเรียน ผมก็เลิกตาม ออกมากันหมด”

อะไรคือ “ปมปัญหา” ที่ทำให้ชีวิตของเขาออกนอกลู่นอกทางจนเผชิญความเสี่ยงแบบนี้?

คิมนิ่งคิด แล้วตอบสั้น ๆ ว่า

“ไม่มี”

“ติดเพื่อนเท่านั้น เป็นกลุ่มเพื่อนที่เรียนด้วยกันที่โรงเรียนเทศบาล เป็นเพื่อนที่โตมาด้วยกัน แล้วก็พากันมาเรียนอาชีวะ พอไม่เรียน ก็ตามกันออกมา มาดูดยาด้วยกัน โดยไม่มีใครชวนใคร ไม่ได้บังคับกัน เราทำอะไรก็ทำด้วยกัน อยากรู้อยากลอง มันห้ามใจตัวเองไม่ได้ คิดแต่จะสนุกกันทุกวัน”

กลับตัว กลับใจ ..กลับบ้าน

ศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนแห่งขอนแก่น ใช้แนวทางจิตตปัญญาศึกษาที่เน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในตนเอง เพื่อฟื้นฟูชีวิตให้วัยรุ่นที่เดินออกนอกลู่นอกทางหลังหลุดจากระบบการศึกษา

ชีวิตของคิม เปลี่ยนไป

“ผมชอบที่นี่ อยู่กับแบบครอบครัวพี่น้อง ได้พูดคุย ไปเที่ยว ใช้ชีวิตด้วยกัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ มีแต่ความสบายใจ ไม่มีอะไรให้เครียดเลย จริง ๆ ก็เป็นความรู้สึกเดียวกับตอนอยู่กับกลุ่มเพื่อน ต่างกันตรงที่เพื่อนกลุ่มที่ผมเคยอยู่ด้วยกันใช้ยา ผมยังคบเพื่อนกลุ่มนี้อยู่ เจอกันได้ไม่มีปัญหาอะไร เราควบคุมตัวเองได้ ไม่ใช้ยาอีก เห็นว่าเพื่อน ๆ ก็เลิกใช้ยากันแล้ว แยกย้ายกันไปทำงาน

“ผมกลับบ้านมากขึ้นด้วย เมื่อก่อนเที่ยวตลอด แต่พอมาอยู่ที่นี่ พอถึงเวลา ‘พี่เปี๊ยก’ ก็บอกให้กลับบ้าน ผมได้ใช้เวลากับที่บ้านมากขึ้น”

“เปี๊ยก มังกรดำ” ประดิษฐ์จรัส อสุชีวะ เป็นผู้ดูแลศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนแห่งขอนแก่น ใช้กิจกรรม การดูแลและส่งเสริมเยาวชนเป็นรายบุคคล เพื่อปรับความคิดและพฤติกรรม เมื่อพวกเขาเปลี่ยนตัวเองได้ ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวก็ดีขึ้นด้วย

ทำไมถึงเลิกยาเสพติดได้?

“ตอนนั้นบ้านผมแทบไม่มีเงินใช้กันเลย ยายกับแม่นั่งร้องไห้ ผมสงสาร ก็คิดว่าไม่เอาแล้ว หางานทำดีกว่า พยายามปรับปรุงตัวเองมาเรื่อย ๆ ที่จริงก่อนหน้านี้ก็เห็นที่บ้านเป็นทุกข์ แต่ตอนนั้นเราคิดไม่ได้

“ผมว่าหลัก ๆ เลยคือความรักความผูกพันในครอบครัว ช่วงวัยก็สำคัญ ถ้าครอบครัวสัมพันธ์กันดี พอถึงช่วงอายุหนึ่งเราจะคิดถึงเขา แล้วพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผมเริ่มเปลี่ยนตอน 15-16 แต่มาตั้งตัวได้จริง ๆ ปีสองปีนี้ รู้สึกว่าการใช้ชีวิต ความคิดเปลี่ยนไป มองอนาคตมากขึ้น นึกถึงคนอื่นมากขึ้น ก่อนหน้านั้นไม่คิดอะไรเลย จะไปเที่ยวกับเพื่อนอย่างเดียว”

ถามย้อนถึงการตัดสินใจหันหลังให้รั้วโรงเรียน

“ผมอยากเรียนช่างยนต์ ชอบที่ได้ลงมือทำ ได้หัดซ่อมเครื่องยนต์ ซึ่งก็ได้ทำจริง ๆ แต่ผมลืมไปว่ามันต้องมีวิชาคณิต อังกฤษ วิทยาศาสตร์ด้วย ผมไม่ชอบทฤษฎี เรียนไม่ไหว ออกดีกว่า ตอนช่วงออกมาแรก ๆ ผมก็ไปทำงานซ่อมรถอยู่พักหนึ่ง”

ตอนนี้ทำอะไร?

“สนใจวัตถุมงคล ไปทำงานกับอาจารย์ที่มีความรู้ด้านนี้ หัดสักลาย ถักสร้อยข้อมือ ตอนนี้เปิดสอน มีคนมาเรียนหลายคนแล้ว เป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองเลี้ยงครอบครัวได้ ผมตั้งใจจะเก็บเงินเปิดร้านอัดกรอบพระ

“ผมชอบดนตรีด้วย เล่นกีต้าร์ตั้งแต่ ม.1 แล้วก็เล่นมาตลอด ไปเล่นตามงาน ตามรถแห่ ทำให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง”

ถ้าหันกลับไปดูน้อง ๆ ที่เดินตามเส้นทางสายเสี่ยงแบบที่คิมเคยผ่านมา จะบอกเด็ก ๆ ว่าอย่างไร?

“ถ้าเป็นคนอื่นคงพูดว่า ของพวกนี้ไม่ดี อย่าไปลองเลย แต่ผมคิดว่าทุกคนต้องรู้ด้วยตัวเอง ตอนผมใช้ยา คนห้ามเยอะมาก ผมไม่ฟัง แต่พอคิดได้ เราอยากเลิก เราถึงจะเลิกได้ด้วยตัวเอง สำคัญมากก็คือครอบครัว และคนแวดล้อมในช่วงวัยรุ่นที่ยังควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ ถ้าผ่านช่วงนั้นมา เราจะตั้งหลักได้”️

เทศบาลนครขอนแก่น เป็น 1 ใน 4 ของพื้นที่วิจัย ในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเชิงระบบเพื่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กนอกระบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

Back To Top