บทความ : "เด็กนอกระบบ" #3 หัวข้อ เสริมแกร่งคนทำงาน กุญแจดอกสำคัญ แก้ปัญหา “เด็กหลุดระบบ”

  • มิรา เวฬุภาค
    ชัชฐพล จันทยุง
    กรกนก สุเทศ
  • 20 มีนาคม 2565
ประเทศไทยมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคน นั่นหมายถึงร้อยละ 2 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด เท่ากับว่า เด็กไทยทุก ๆ 100 คน จะมี 16 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงไปอีก

การดูแลช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบไม่ใช่เรื่องง่าย จากประสบการณ์งานพัฒนาเครือข่ายและส่งเสริมงานด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต สำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมทั้ง “เด็กนอกระบบ” ของมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ (สำนักงานภาคอีสาน) หรือ “เฮลท์เน็ท” ทิพวัลย์ โมกภา ผู้จัดการเฮลท์เน็ท พบว่าการทุ่มงบประมาณเพื่อหวังขจัดความยากจน ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบ

ทิพวัลย์ โมกภา ผู้จัดการเฮลท์เน็ท

“เด็กแต่ละคนมีปัญหารุงรัง ไม่ใช่ทุกคนพร้อมจะกลับมาเรียน หรือร่วมกิจกรรมที่เราจัดให้”

ทิพวัลย์ บอกว่าการทำงานกับเด็ก ยากตั้งแต่การเข้าถึงตัวเด็ก การสร้างความไว้วางใจ อีกทั้งเด็กส่วนใหญ่ขาดพื้นฐานที่ดีในตัวเอง การทำงานจึงต้องเริ่มจากการช่วยให้เด็กมีความพร้อม ต้องทำงานกับคนที่แวดล้อมตัวเด็ก และสภาพแวดล้อมของเด็กด้วย ซึ่งทุกขั้นตอนต้องใช้เวลาและต้องมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง

“การทำงานกับเด็กนอกระบบ จะพุ่งเป้าให้เด็กได้เรียนหรือมีงานทำเท่านั้นคงไม่ได้ เด็กจำนวนมากไม่อยากเรียน ไม่คิดเรื่องงาน แต่เขาต้องการคนเข้าใจ งานต้องเริ่มจากความรู้สึกที่แท้จริงของเด็กก่อน ต้องมีมิติด้านจิตใจด้วย”

 

การทำงานกับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ในมุมมองของผู้จัดการเฮลท์เน็ท เป็นงานที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อน คนทำงานจำเป็นต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาที่เด็กแต่ละคนกำลังเผชิญ จึงจะดูแลช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม

คนทำงานเองก็ลำบาก

สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือขวัญกำลังใจของคนทำงาน ผู้จัดการเฮลท์เน็ท เล่าประสบการณ์ดูแลบุคลากรทั้ง 15 ชีวิต เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจขององค์กร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดในภาคอีสาน

“ต้องประคับประคองความรู้สึกของทีมตลอดเวลา จะไปจัดกิจกรรมให้เด็ก กว่าจะทำให้เด็กไว้ใจเราได้ก็ผ่านไปเป็นเดือน แต่ถ้าไม่ทำ เด็กก็ไม่มากับเรา เพราะเด็กมีปัญหาของเขาอยู่ และไม่เข้าใจว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไร พองานไม่ได้ตามเป้า คนทำงานก็เครียด งานที่ต้องอยู่กับความทุกข์ของสังคม คนทำงานไปสัมผัสแล้วก็พลอยทุกข์ไปด้วย บอกได้เลยว่าปัญหาคนจะลาออกมีตลอด ตอนประชุมเลยไม่ใช่แค่พูดกันเรื่องงาน แต่ต้องรับฟังความรู้สึกของทุกคน ต้องหล่อเลี้ยงกำลังใจกัน ไม่อย่างนั้นงานยาก ๆ ไม่มีทางสำเร็จได้”

จากประสบการณ์ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบาง ซึ่งเป็นงานยาก ผู้จัดการเฮลท์เน็ทเห็นว่าจำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอน ทั้งการมองเห็นมิติด้านจิตใจของเด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และการดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่

“ถ้ามองเป้าหมายแค่ว่าเด็กต้องได้เรียน หรือมีงานทำ โดยมองข้ามคนทำงาน เชื่อว่าเป็นไปได้ยากที่งานจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในเชิงคุณภาพ”

 

เสริมแกร่งทางใจให้คนทำงาน

บุคลากรของเฮลท์เน็ท มีโอกาสได้ร่วมการฝึกอบรมภายใต้ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเชิงระบบเพื่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กนอกระบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีพื้นที่โครงการย่อยใน 4 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครสวรรค์ ขอนแก่น และอาศรมวงศ์สนิท จังหวัดนครนายก

ในฐานะผู้บริหารองค์กร ทิพวัลย์เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

“ศูนย์จิตตปัญญาศึกษามีความเฉพาะที่โดดเด่น ในด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เสริมพลังให้กับผู้ที่เข้าร่วม พอไปร่วมการอบรมแล้วได้เจอคนทำงานด้านเด็กจากหลายองค์กร ซึ่งที่ผ่านมารู้แค่ว่าใครทำอะไร แต่ไม่เคยคุยกันจริงจัง ว่าแต่ละคนแต่ละองค์กรมีวิธีคิด วิธีทำงาน ผ่านประสบการณ์อย่างไรมาบ้าง ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน กิจกรรมที่จัดขึ้นเปิดโอกาสให้ได้แบ่งปันความรู้สึก ได้เห็นว่าคนทำงานทุกคนต้องผ่านเรื่องราวเหล่านี้ รวมทั้งได้ทบทวนถึงความรักในงานที่แต่ละคนรับผิดชอบอยู่ ได้เห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของงานอย่างชัดเจนก็ช่วยให้มีกำลังใจมากขึ้น”

 

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา จัดอบรมเสริมแรงใจกลุ่มบุคลากรที่ทำงานกับเด็กนอกระบบ 

ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดขอนแก่น

นอกจากจะได้ “เพื่อนร่วมทาง” ที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน และเสริมพลังใจซึ่งกันและกันแล้ว ผู้จัดการเฮลท์เน็ทยังเห็นประโยชน์ที่จะได้ประสานการทำงานระหว่างกันเพื่อการดูแลเด็ก ๆ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

WRITER

มิรา เวฬุภาค

PHOTOGRAPHER

ชัชฐพล จันทยุง

wwwwww

ILLUSTRATOR

กรกนก สุเทศ

ILLUSTRATOR
Back To Top