บทความ : "เด็กนอกระบบ" #1 หัวข้อ ความจน ไม่ใช่เหตุผลเดียวของ “เด็กหลุดระบบ”

  • มิรา เวฬุภาค
    ชัชฐพล จันทยุง
    กรกนก สุเทศ
  • 17 มีนาคม 2565
“ครูยุทธ” ครูยุทธภูมิ ดีแจ้ง ชื่อนี้ เด็ก ๆ รู้จักกันดี ในฐานะครูฝ่ายปกครอง โรงเรียนเทศบาลวัดวรนาถบรรพต โรงเรียนเทศบาลใหญ่ที่สุดในอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยจำนวนนักเรียนราว 1,500 คน ครูยุทธเคยเป็นครูโรงเรียนอื่น ก่อนจะย้ายมาสอนฟิสิกส์ที่โรงเรี

ตลอด 10 ปี เผชิญวีรกรรมของนักเรียนมาทุกรูปแบบ ทั้งยกพวกตีกัน หนีเรียน ชู้สาว ยาเสพติด ฯลฯ ครูยุทธใช้ทั้งแรงกายแรงใจในความเป็นครู พยายามดึงรั้งไม่ให้เด็ก ๆ ต้องหลุดจากระบบการศึกษา

“เด็กโรงเรียนเทศบาล ชีวิตเขาเจอปัญหาหลายด้าน เราพยายามดูแล แล้วผมเป็นพวกทำอะไรก็ลุยเลย ไม่ชอบระบบหรือขั้นตอนเยอะ เพราะจะแก้ปัญหาไม่ทันการ บางทีสอน ๆ อยู่ ผู้ปกครองมาบอก ลูกหายจากบ้านหลายวันแล้ว ผมจะไปเรียกเด็กที่ค่อนข้างเกเรมา ให้เวลา 10 นาทีต้องได้คำตอบว่าเพื่อนอยู่ไหน เชื่อไหม แค่ 5 นาที เด็กกลับมาบอกได้แล้วก็พากันไปตาม อีกรายหนีไปอยู่กับผู้ชายที่คันนา ชีวิตยากลำบาก เราไปตามกันจนเจอ

“ตั้งแต่นั้นมาเกิดเรื่องอะไรผู้บริหารเรียกผมตลอด เด็กตีกัน เด็กโดดเรียน เด็กตบกัน เวลาไปตามเด็ก ผมจะมีแก๊งนักเรียนตามไปช่วย ก็รู้สึกผูกพันกัน มีปัญหาก็ช่วยกันแก้”

ครูยุทธเล่าให้เห็นภาพการทำงานแบบถึงลูกถึงคนเพื่อช่วยเด็ก ๆ ให้รับมือกับปัญหาที่รุมเร้ารอบด้าน

 

ความจน ไม่ใช่เหตุผลเดียวของ เด็กหลุดระบบ

 

จากประสบการณ์ของครูยุทธ เด็กออกโรงเรียนกลางคัน มาจากหลายสาเหตุ

“ถ้าเป็น ม.ต้น หนึ่ง เรื่องครอบครัว เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่มีใครคุมอยู่ สอง มีแฟน สาม เรื่องการเรียน พอติด 0 ติด ร เยอะ บางคนติดไป 28 ตัว ไม่เอาแล้ว เลิกเรียนดีกว่า ครูต้องไปขอครูรายวิชาบางคนให้ช่วยเด็กหน่อย แต่ขึ้นอยู่กับตัวเด็กด้วยที่จะต้องแก้ผลการเรียนของตัวเอง

"ส่วน ม.ปลาย โดยมากเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่ไม่มีเงินเรียน แต่พ่อแม่อยากให้ไปช่วยกันทำงานหาเงินมากกว่า

“ที่มองข้ามไม่ได้คือกลุ่มที่โดนล้อโดนแกล้ง ส่วนใหญ่ครูไม่รู้ ไถเงินกันก็มี เด็กบางคนไถเงินเพื่อน จนคนที่ถูกไถจะเลิกเรียนแล้ว เราถามว่าทำไมจะเลิกเรียน เขาไม่พูด เราต้องมีสายรายงาน บางคนหลุดไปตอน ม.1 จนเพื่อนเรียนถึง ม.3 ตัวเองกลับมาเรียน ม.1 ใหม่ เพราะตอนนั้นโดนเพื่อนแกล้งจนไม่มาเรียน ถ้าเรารู้ก็ช่วยคุยช่วยเคลียร์กับคนที่สร้างปัญหา ถ้าเด็กรู้สึกว่าครูปกป้องเขาได้ เขาจะแข็งแรงขึ้น และเรียนต่อได้

“สมัยก่อนเด็กติดกัญชา แต่จะไม่ทำในโรงเรียนเพราะเกรงใจเรา ก็จะจัดกันตั้งแต่ก่อนมาโรงเรียน เราก็ต้องเปิดใจเพื่อให้เขาเรียนให้ได้ แล้วค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ ปรับ จนใกล้จะจบเขาเลิกเองเลย ถ้าเราไล่เด็กที่มีปัญหาออกจากโรงเรียน คือการไล่เด็กออกนอกระบบ และกลายไปเป็นปัญหาสังคมต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ”

สำหรับครูยุทธ เมื่อครูมองให้ลึก ก็จะเห็นปัญหารอบด้านที่เด็กกำลังเผชิญ และนั่นก็เป็นแรงผลักดันสำคัญในการทำงานดูแลเด็กโดยไม่ลดละของเขาในวันนี้

 

โรงเรียนคือความสุข สนุก และอิ่มท้อง

“มาสอนที่โรงเรียนเทศบาลวันแรก ทำหน้าที่พาเด็กข้ามถนน เด็กถามว่าเป็นยามใหม่เหรอ เราก็สตั๊นท์ไปเลย เด็กที่นี่ไม่เหมือนเด็กที่เราเคยเจอ ก็ต้องปรับวิธีการทำงาน

"อันดับแรกปรับมุมมองก่อน ไปสอนวันแรกพูดเพราะ เรียกเด็กว่าลูก ปรากฏว่าเด็กเล่นกัน ไม่สนใจเลย ต้องเปลี่ยนเป็นภาษาชาวบ้าน ๆ ให้สื่อสารกับเขาได้

“บางทีสอน ๆ อยู่ อ่าว นักเรียนหาย เพื่อนบอกว่าไปกินข้าว ก็ต้องไปตามกันกลับมาเรียน ตอนแรกโมโห ทำไมเด็กเป็นแบบนี้ พอได้ไปเยี่ยมครอบครัวเด็ก ได้เห็นพ่อแม่ เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของเขา กลายเป็นว่าปัญหาที่ครูเจอกลายเป็นเรื่องเล็กนิดเดียวไปเลย

“ปัญหาเด็กหนีออกจากบ้านก็เจอบ่อย เราต้องขี่รถตามไปหา พอได้คุยกับเด็ก รู้เลยว่าถ้าไม่ช่วย เขาจะกลายเป็นปัญหาสังคมต่อไปในอนาคต เด็กบางคนอยู่กันสองคนกับยาย บ้านล้อมสังกะสี พอยายตายญาติพี่น้องไม่เอาเด็กเลย โยนให้มาอยู่กับเรา

"เด็กอีกหลายคนไม่มีเงินกินข้าว การมาโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะมาแล้วได้กินข้าว มาแล้วมีความสุขได้เจอเพื่อน เจอครู ห้องทำงานผมเปิดไว้ตลอด ถ้าเด็กหิวจะมาที่ห้องครูเพราะรู้ว่ามีของกิน”

สร้างเครือข่ายเด็ก สานเครือข่ายครู

“นอกจากเด็กนักเรียนแล้ว ผมมีเครือข่ายเด็กที่จบไปแล้วด้วยนะ เวลามีปัญหาเราหาข้อมูลได้ ทั้งการตามเพื่อน ๆ หรือหาข้อมูลต่าง ๆ เด็กเขากว้างกว่าเรา เขาถึงกันหมด

"ถ้าจะแก้ปัญหาเด็กในระบบไม่ให้ออกนอกระบบต้องเจาะลงไปตรงด้านที่เป็นปัญหา เพราะปัญหาอยู่ด้านมืด เราอยากดึงเด็กกลับมาก็ต้องไปคุยกับเขา เราเปิดใจไป เขาจะเปิดใจกลับมา ผมมักพูดเสมอว่าเด็กมีเครือข่าย ครูก็ต้องสร้างเครือข่ายให้เหมือนเด็ก อย่าไปยึดติดกับระเบียบอย่างเดียว คุยกันแบบภาษาลูกทุ่งการแก้ปัญหาจะเร็ว

“โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเชิงระบบเพื่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กนอกระบบ ผมได้มาสัมผัสก็รู้สึกชอบ การทำงานกับเด็กที่เขาเจอปัญหาเยอะเราก็เหนื่อยไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติงานได้มาพูดคุยถ่ายทอดประสบการณ์ ทำให้ได้ข้อมูลและมุมมองหลากหลายมิติ เหมือนเป็นการเติมพลังใจ

"เรื่องราวของเด็ก ๆ ที่ผมเจอ อยากให้มีการนำไปเป็นข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาระดับใหญ่ ผมว่าเราต้องยอมรับปัญหาก่อน อย่าหมกเม็ด อย่าปฏิเสธว่าไม่มีปัญหา อย่างโรงเรียนเราพูดความจริง เราก็แก้ปัญหาได้จริง”

การศึกษาต้องตอบโจทย์ชีวิตให้ผู้เรียน

“ต้องยอมรับว่าการเรียนบางครั้งไม่ตอบโจทย์ให้เด็กและครอบครัว เด็กหลายคนไม่พร้อมก็เรียนไม่ทันเพื่อน ติด ร ติด 0 มาก ๆ เข้าก็ไม่อยากเรียน พ่อแม่ก็ไม่ผลักดันเพราะมองไม่เห็นอนาคตว่าจะไปทางไหนได้ ถ้ามาถึงผมก็จะพยายามช่วย

"เราต้องเข้าใจเด็กด้วย บางวิชาเขาไม่ถนัดจริง ๆ ก็ต้องดูที่เขาถนัด เด็กบางคนไม่ถนัดวิชาการ แต่เรียนรู้จากการได้ลงมือทำ แทนที่จะให้เด็กซ่อมด้วยการคัดลอกลงกระดาษ 60-70 หน้า ผมสอนฟิสิกส์ ชวนเด็กไปตัดต้นไม้ เด็กจะเข้าใจเรื่องแรง บอกเด็กว่าวิชาลูกเสืออยากได้ไม้ไผ่ เด็กก็ปีนไปตัดต้นไผ่ ได้เรียนรู้เรื่องสมดุล บางทีชวนมาซ่อมลำโพงพัง เครื่องเสียงพัง เด็กได้เรียนรู้เรื่องไฟฟ้าสถิต ไฟฟ้ากระแส เราก็ไปวัดสมรรถนะตรงนั้น เด็กก็จบได้ และได้ความรู้ด้วย

“เด็กเรียนโรงเรียนเทศบาล ส่วนใหญ่เป้าหมายแค่สั้น ๆ คือเรียนให้จบ ม. 6 แล้วไปทำงาน ยกเว้นบางคนที่ครอบครัวมีความพร้อมก็ได้ไปต่อ บางทีไปเจอลูกศิษย์ที่เรียนจบแล้วไปเป็นยาม เราก็แนะให้เขาหาโอกาสเรียนต่อ ถ้าจบ ม. 3 ก็บอกให้ไปเรียน กศน. ต่อ ม.ปลาย ถ้ามีปัญหาให้มาหาครู

“ผมมองว่าการเรียนในระบบก็แค่ใส่ชุดมาโรงเรียน แต่การศึกษาในความหมายของเราคือ ทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้พวกที่ไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนแล้ว ได้กลับมาเรียนในรูปแบบที่เหมาะสมกับชีวิตของเขา หรือพวกที่ไม่เรียนเลยเราก็ต้องหาวิธีดึงเขากลับมาเรียนในรูปแบบที่เขาถนัด ถือว่าเป็นความท้าทายในการแก้ปัญหาการศึกษาของสังคมไทย”

WRITER

มิรา เวฬุภาค

PHOTOGRAPHER

ชัชฐพล จันทยุง

wwwwww

ILLUSTRATOR

กรกนก สุเทศ

ILLUSTRATOR
Back To Top