บทความ : "เด็กนอกระบบ" #2 หัวข้อ คืน "เด็กนอกระบบ" สู่สังคม เทคนิคที่คนทำงานต้องรู้

  • มิรา เวฬุภาค
    ชัชฐพล จันทยุง
    กรกนก สุเทศ
  • 20 มีนาคม 2565
“เด็กหลุดจากระบบการศึกษา” เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมาก เพราะพบว่าในแต่ละปี ประเทศไทยมีเด็กที่ออกจากการเรียนกลางคันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

มีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนต่อได้จนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น ฐานะยากจน ปัญหาครอบครัว ปัญหาในการปรับตัว อพยพตามผู้ปกครอง เรียนไม่ทันเพื่อน ฯลฯ ปัญหาใหญ่ที่ติดตามมา เกิดจากการขาดระบบรองรับเด็กที่ “ไม่ได้ไปต่อ” ในระบบโรงเรียน หากมีช่องทางให้เด็กสามารถเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ ก็จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคตให้พวกเขาได้

อ้อย-วราภรณ์ หลวงมณี รองผู้อำนวยการแผนงานกระบวนทัศน์ใหม่ และผู้อำนวยการอาศรมวงศ์สนิท มีประสบการณ์ในการทำงานกับเด็กนอกระบบมากว่าสิบปี และเตรียมพัฒนาให้ศูนย์การเรียนวงศ์สนิทวิทยา เป็นพื้นที่บ่มเพาะคุณภาพชีวิตเด็กเยาวชนนอกระบบ ให้มีความเข้มแข็งภายในและสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมั่นคง

ล่าสุด ได้เตรียมจัดค่ายยุวโพธิชน “ปลุกพลังใจ ปลูกประกายฝัน ปั้นอนาคต” หลักสูตร 3 เดือน ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 27 พฤษภาคมนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเชิงระบบเพื่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กนอกระบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง อาศรมวงศ์สนิท ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

เสริมคุณค่าในตัวเอง สร้างคุณค่าต่อชุมชน- สังคม

ประสบการณ์จากการทำงานเยาวชนทั้งในโรงเรียนและชุมชน ได้สัมผัสเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก แต่ละคนล้วนมีบาดแผลชีวิต อ้อย-วราภรณ์ เห็นว่าการทำให้เด็กกลับมาเห็นคุณค่าของตัวเอง พร้อมกับการเห็นความสำคัญของคนรอบข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ นำมาสู่การพัฒนาหลักสูตรในรูปแบบกิจกรรมค่าย เพื่อให้เยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ทั้งการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น สภาพแวดล้อม การกลับมารู้จัก เข้าใจ และยอมรับตนเอง ทุกกิจกรรมจะมีเรื่องการเยียวยาสอดแทรกอยู่

“แม้แต่ตัวเราเอง การเยียวยาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ละคนล้วนมีบาดแผลชีวิต ในกระบวนการเยียวยาจะทำให้กลับมาเห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นความสำคัญของคนรอบข้าง ด้วยกระบวนการ empowerment”

การเรียนรู้ด้านสังคมจะสร้างพลังให้เด็ก การที่เด็กมีโอกาสได้ทำกิจกรรมจิตอาสา จะช่วยเยียวยาและพัฒนาตัวพวกเขาเองด้วย ค่ายยุวโพธิชนมีกิจกรรมที่ให้เด็กได้สัมผัสและช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นว่าคนอื่นก็มีชีวิตที่ยากลำบาก ไม่ใช่แค่ตัวเขาเองที่ต้องเจอปัญหา เมื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ สิ่งที่ได้กลับมาคือความภาคภูมิใจในตัวเอง ได้เห็นว่าตัวเองทำอะไรได้ และเป็นสิ่งมีคุณค่าและมีความสำคัญ

“เราเคยทำค่ายที่มีเด็กประมาณหัวหน้าแก๊งเข้ามาร่วมด้วย ลูกน้องอีก 10 กว่าคน พอผ่านกระบวนค่ายไป 21 วัน พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีพลังมากเลยนะ สามารถที่จะดึงเด็กในระบบให้ลุกขึ้นมาทำอะไรให้สำเร็จได้ ในขณะเดียวกันเด็กในระบบก็ช่วยดึงเด็กกลุ่มนี้ลุกจากที่นอนมานั่งใช้หัวคิดด้วยกัน ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน”

ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง สำหรับเด็กนอกระบบหลายคนกลายเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่

“เคยทำงานกับเด็กในหมู่บ้าน สภาพของการอยู่ด้วยกันในหมู่บ้านและครอบครัวเต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจกัน หลังจากผ่านกิจกรรมที่เราจัดขึ้น เด็กสะท้อนว่า เขาไม่เคยรู้ว่ามีคนที่รักกันได้แม้จะไม่ได้เป็นพ่อแม่หรือคนในครอบครัว ซึ่งคิดว่าสำคัญสำหรับเด็กกลุ่มนี้ เพราะจะช่วยให้เขาไว้วางใจผู้คนได้มากขึ้น ส่วนการได้ไปสัมผัสธรรมชาติ อยากให้เขาได้สัมผัสกับความรู้สึกว่าเราสามารถพึ่งพิงธรรมชาติได้ ก็จะเป็นเรื่องความไว้วางใจต่อโลก ว่าเมื่อเกิดมาแล้วเราจะสัมพันธ์กับโลกใบนี้อย่างไร”

อีกเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับเด็กนอกระบบ คือเรื่องการทำงานหาเลี้ยงชีวิต

“ให้เขาได้ค้นหาว่าชอบอะไร รักอะไร และการได้ทักษะพื้นฐานเพื่อจะพัฒนาต่อไปได้ เป้าหมายคือ ดึงสิ่งที่เขารักเขาชอบออกมาให้เป็นรายได้ แต่มันไม่ได้แปลว่าจะต้องสำเร็จ เด็กมีอาชีพทันที เพราะเขาอยู่ในช่วงวัยที่ยังต้องเรียนรู้ ต้องการเวลาที่จะลองผิดลองถูก และได้เรียนรู้จากประสบการณ์” อ้อย-วราภรณ์ กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างความเข้มแข็งเพื่อช่วยเด็กกลับคืนสู่สังคม

 

มีคำกล่าวที่ว่า การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้โตได้ต้องอาศัยคนทั้งชุมชน การที่เราจะเลี้ยงลูกเราให้โตขึ้นมาได้ ต้องอาศัยญาติพี่น้อง ต้องอาศัยคนในชุมชนช่วยกันที่จะดูแลเด็กคนหนึ่ง แต่เมื่อสังคม ชุมชน และครอบครัวไม่มีความพร้อม การที่เด็กสักคนจะเติบโตอย่างมั่นคงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“ถ้าผู้นำเห็นคุณค่าของเด็ก จัดกิจกรรมที่จะทำให้เด็กได้มีบทบาท ให้พวกเขามีโอกาสในการพัฒนาความเป็นผู้นำต่อในพื้นที่ได้มากขึ้น เด็กกลุ่มนี้มีศักยภาพเพราะรู้จักชุมชนของตัวเองเป็นอย่างดี เวลามีงานของหมู่บ้าน ถ้าผู้ใหญ่ให้โอกาส ให้เด็กได้ไปช่วยกางเต็นท์ไปช่วยงาน ถึงเด็กจะเกเรแต่ก็มีใจที่อยากดูแลคนอื่น”

อ้อย-วราภรณ์ ชี้ว่า สิ่งที่พิเศษประการหนึ่งของกิจกรรมที่จัดขึ้น คือการทำให้เด็กรู้เท่าทันสังคม ให้เห็นว่าปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสังคมวัฒนธรรมด้วย เช่น การชื่นชมคนที่เรียนสูง ร่ำรวย การให้คุณค่าผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ความคิดความเชื่อเหล่านี้ที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่าตัวเองด้อยคุณค่า

“ลำพังตัวเด็กที่หลุดจากโรงเรียน บางทีไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองด้อยมาก ที่คนที่รู้สึกคือพ่อแม่ที่อายคนอื่น บางคนตัดลูกเลย หรือถ้าไม่เรียนก็ไม่ต้องมานับถือกัน พอเด็กหลุดออกมาแล้วไม่มีอะไรรองรับ พ่อแม่ทำอะไรไม่ถูก บางคนทีคนในหมู่บ้านก็ไม่ได้รับรู้ด้วย เด็กไม่รู้จะไปไหน ก็ไปอยู่กับกลุ่มเพื่อน ไปอยู่ในที่ที่ยอมรับเขา”

ผอ.อาศรมวงศ์สนิท จึงหวังจะสร้างแนวทางเพื่อป้องกันและรองรับเด็กที่ออกจากระบบโรงเรียน โดยเฉพาะการดูแลเพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่าตนเอง แต่สามารถทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ชุมชน และสังคม ซึ่งต้องอาศัยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนให้เด็กได้อยู่ในเส้นทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองต่อไปได้แม้จะหลุดจากการศึกษาในระบบโรงเรียนมาแล้วก็ตาม

WRITER

มิรา เวฬุภาค

PHOTOGRAPHER

ชัชฐพล จันทยุง

wwwwww

ILLUSTRATOR

กรกนก สุเทศ

ILLUSTRATOR
Back To Top