กิจกรรมสอนนอกกรอบ สำหรับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา รุ่นที่ 2 ครั้งที่ 3

  • 15 พฤษภาคม 2567

          กิจกรรมสอนนอกกรอบ สำหรับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา รุ่นที่ 2 ครั้งที่ 3 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11-12 มีนาคม พ.ศ. 2567 ณ อาคารเอนกคุณ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครราชสีมา มีคณาจารย์เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 25 คน ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์กลุ่มแกนนำรุ่นใหม่ของ วพบ.นครราชสีมา มีความมั่นใจและกล้าสอนแบบใหม่คือ การบูรณาการหัวใจเข้าไปในการเรียนการสอน ด้วยแนวคิดของ Parker Palmer จากหนังสือกล้าที่จะสอน และแนวทางจิตตปัญญาศึกษา รวมถึง กรอบทฤษฎี Social Emotional Learning ที่เป็นทักษะการเรียนรู้สำคัญสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ กระบวนกร คือ ดร.ศักดิ์ชัย อนันต์ตรีชัย และคุณรัชนี วิศิษฎ์วโรดม ได้ออกแบบกิจกรรมหลักให้กลุ่มอาจารย์ทั้ง 25 คน ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ได้แก่ The Message “กล้าที่จะสอน” , ห้องเรียน 2 แบบ, ครูในดวงใจ, ยกตัวอย่างการบูรณาการสู่ชั้นเรียน และวางแผนการเรียนรู้และกิจกรรมในชั้นเรียน โดยสุดท้ายแล้วกลุ่มอาจารย์จะต้องนำเสนอแผนงาน/แผนการสอนของตนเองที่สอดคล้องกับจริยธรรมวิชาชีพพยาบาลอีกด้วย

จากการอบรมกระบวนกรพบว่า กิจกรรม 12 ข้อความ จากหนังสือ “กล้าที่จะสอน” ทำให้ผู้เข้าอบรม ได้ใคร่ครวญและตระหนักถึงการสอนที่ผ่านมาของตนเอง ได้ทบทวนบริบทห้องเรียน และธรรมชาติของลูกศิษย์ ส่งผลให้มีความมุ่งมั่นปรับเปลี่ยนห้องเรียนให้มีหัวใจอย่างต่อเนื่องต่อไป ดังผลสะท้อนคิดที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ต่อไปนี้

 

  • ในความเป็นมนุษย์ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกัน เราจึงต้องเชื่อมโยงไปที่การสอน รู้สึกชอบ การเชื่อมโยงทางจิตปัญญาในมิติของการสอนแค่ผ่านอย่างเดียวไม่พอ เพราะเด็กมีความคิดความรู้สึก มีอารมณ์ และเด็กเองก็มีความคาดหวังในตัวเราเช่นเดียวกับที่เราคาดหวังในตัวเด็กด้วย
  • อ่านแล้วเห็นตัวเอง คือ เห็นตัวเองในยุคแรกว่าสอนแค่ผ่าน แต่ตอนนี้เห็นตัวเองในมุมใหม่คือ การเห็นจิตวิญญาณใหม่ในการทำความเข้าใจเขาเกี่ยวกับการเรียนจิตเวชของนักศึกษา ในการสอนก็ชวนคุยเรื่องความคาดหวังของพยาบาลจิตเวช ทำให้เราเห็นจิตวิญญาณของเด็กถึงการมาเรียนบนความคาดหวังของเขา ทำให้เราเห็นความรู้สึกนึกคิดของเขามากขึ้นจนกลายมาเป็น “เพื่อนร่วมเรียน”
  • ครูต้องเชื่อมโยงกับเด็ก จะต้องเชื่อมโยงวิชาการกับวิชาชีวิตให้ไปด้วยกัน เราจะสอนเนื้อหาจนลืมความจริงไม่ได้ ซึ่งจะสอนนักเรียนเรื่องนี้ในภาคปฏิบัติเพื่อให้เด็กเข้าใจชีวิตและเข้าใจคนมากขึ้น เห็นตัวเองจากลูกศิษย์ที่จบออกไปแล้วสะท้อนกลับมาว่าเราไม่ดุกับรุ่นน้องเหมือนแต่ก่อน เพราะตอนนั้นเรามุ่งสอนเนื้อหา content best จนละเลยจิตวิญญาณ ตอนนั้นเราสอนด้วยความดุ แต่ตอนนี้เราจัดสมดุลและพยายามทำตัวเองเป็นตัวอย่างที่ดี และสะท้อนกลับให้เด็กเห็นจากเรา แล้วจะพยายามสอนโดยเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับแผนการสอนแต่เราต้องชัดเจนเรื่องเป้าหมาย เพื่อออกแบบการสอนให้ชัดได้ด้วยตนเอง

        นอกจาก ผู้เข้าอบรมยังเล็งเห็นว่า หัวใจของการศึกษาคือ การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ครูและผู้เรียนต่างเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้นั้นซึ่งกันและกัน โดยอาจารย์เป็นเพียงผู้จัดประสบการณ์ที่เชื่อมโยงการเรียนรู้เดิมกับความรู้ใหม่ ด้วยบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร เด็กรู้สึกปลอดภัย มีความสุข เชื่อมโยงเข้ากับชีวิตจริงนอกห้องเรียนได้อีกด้วย

สำหรับผู้เข้าอบรมเองก็ได้เรียนรู้และสะท้อนลักษณะ “ครูในดวงใจ” ที่ต่างก็เคยคาดหวังและอยากเห็นจากประสบการณ์ในวัยเด็ก จนปัจจุบันแต่ละคนต่างก็กำลังเป็นครูแบบนั้นให้เด็กๆ ที่จะจบการศึกษาเป็น “พยาบาลที่มีหัวใจ” ดูแลคนไข้ด้วยจิตวิญญาณของการพยาบาล ดังอัตตลักษณ์ของ วพบ.ที่กล่าวไว้ว่า “วินัย หน้าที่ สามัคคี เสียสละ สัจจะ กตเวที มีจิตบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์”

และช่วงท้ายการอบรม ผู้เข้าอบรมสามารถออกแบบกิจกรรมในชั้นเรียน และวางแผนจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการจิตตปัญญาเข้าในกิจกรรม/รายวิชา ตลอดจน เชื่อมโยงกับงานบริการวิชาการ/พัฒนาชุมชนภายนอกวิทยาลัยอีกด้วย

โดยมีตัวอย่าง Reflection & Check out ดังนี้

  • รู้สึกว่าได้มองตัวเองผ่านการย้อนกลับไป
  • ได้เรียนรู้เทคนิคการสอนว่าจะทำอย่างไรให้ผู้เรียน Insight Out และเชื่อมโยงการเรียนรู้กับคนอื่น
  • ได้วิธีการพัฒนาตัวเองมากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาผู้เรียนด้วยห้องเรียนแบบใหม่
  • วันนี้เข้าใจมากขึ้น และช่วยให้เรากำกับและเท่าทันอารมณ์ของตัวเอง พยายามฟังเด็กให้มากขึ้น เราปรับพฤติกรรมตัวเองจากไม่เคยถามเด็กว่าอยากได้อะไร แต่เมื่อถามเด็กก็ยิ้มแย้มแจ่มใส กระบวนการวันนี้ทำให้เห็นช่องว่าง และรู้ว่าจะทำให้ช่องว่างนั้นแคบลง เราต้องฝึกต่อไป
  • ได้เห็นและทบทวนตัวเอง ได้เห็นการเชื่อมโยงมากกว่ามิติที่ใจเรามองเห็นที่ลุ่มลึกกว่านั้น ทั้งภาษาพูดและภาษากาย การเป็นครูที่ดีเราก็ได้ทบทวนและชัดเจนขึ้นสำเร็จและเกิดผลจากการมาเข้าร่วม ได้ชื่นชมผ่านความคิดเห็นของแต่ละคน การเชื่อมโยงร่วมกันระหว่างนักศึกษากับอาจารย์มีความเอื้ออาทรต่อกัน

 

Back To Top