ให้การศึกษามีพื้นที่ว่างสำหรับ ‘ความเป็นมนุษย์’

  • 14 ธันวาคม 2565
31 ปีแล้วที่อาจารย์อุ๊ย ดร. จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร เริ่มต้นเดินบนเส้นทางการศึกษาที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ และยังคงปักหลักความเชื่อและขับเคลื่อนการศึกษาในแบบนั้นมาจนถึงทุกวันนี้

      31 ปีแล้วที่อาจารย์อุ๊ย ดร. จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร เริ่มต้นเดินบนเส้นทางการศึกษาที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ และยังคงปักหลักความเชื่อและขับเคลื่อนการศึกษาในแบบนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ 

      เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส ณ​ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มาสู่การเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีภารกิจสำคัญคือการทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของมิติด้านในจิตใจ เข้าใจความหลากหลาย และความแตกต่างของมนุษย์ เพื่ออยู่ร่วมกันและสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม

      ความศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ และความเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่าหากมนุษย์มีจิตใจที่ดีขึ้นสังคมโดยรวมก็จะดีขึ้นได้ ทำให้อาจารย์อุ๊ยได้พบเจอเป้าหมายในชีวิต นั่นคือการสร้างและสนับสนุนการศึกษาที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ และขยับขยายงานมาสู่โครงการหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษา โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อหยั่งรากเมล็ดพันธุ์ความเป็นมนุษย์ไปสู่ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง คือ สถาบันฝึกหัดครู ระบบการศึกษา และระบบสาธารณสุข

ความเป็นมนุษย์ที่ร่วงหล่นจากระบบพัฒนามนุษย์

      การสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564  พบว่า มีเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย ถึง 238,707 คน โดยสาเหตุสำคัญที่นอกเหนือจากปัญหาโควิด-19 คือเด็กส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ครอบครัวหย่าร้าง ขาดแคลนอุปกรณ์ และครอบครัวไม่พร้อม 

      นอกจากปัญหาข้างต้น เด็กในระบบการศึกษากระแสหลักถูกผลักให้มุ่งเน้นการอ่านออกเขียนได้ เข้าใจศาสตร์สาระ มุ่งเน้นการพัฒนาวิชาชีพ และการแข่งขันทางวิชาการ ทำให้เด็กๆ เหล่านั้นที่เติบโตภายใต้ระบบการศึกษาอาจละเลยมิติของสังคม และอาจขาดความเข้าใจชีวิต เด็กหลายคนร่วงหล่นจากระบบการศึกษา มิใช่เพียงเพราะความแตกต่างทางความสามารถ แต่ด้วยสภาพครอบครัว สภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่ทำให้เขาไม่สามารถแข่งขันและคงความเป็นตัวเองไว้ในระบบลักษณะนี้ได้ 

      “ทุกวันนี้การศึกษาดำเนินไปเพื่อให้เด็กสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปได้ แต่อาจขาดมิติการพัฒนาความเป็นมนุษย์ พัฒนาความสามารถให้เด็กเข้าใจตัวเอง เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นไปอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม แล้วก็ดูแลสังคมให้มีความสงบสุข แต่การศึกษากระแสหลักมุ่งเน้นไปเรื่องของวิชาชีพ กับวิชาการซึ่งทำให้เกิดการแข่งขัน ส่งผลให้เด็กคิดถึงคนอื่นน้อยกว่าคิดถึงตัวเอง เอาความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ แล้วบางทีก็ละเลยมิติของสังคม เวลาที่เกิดปัญหาอะไรขึ้นกับชีวิตก็อาจเลือกที่จะทำร้ายตัวเองเพราะไม่มีทักษะความสามารถที่จะดูแลจัดการตัวเองได้ ไม่สามารถจะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ก็เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ เด็กจะเป็นโรคซึมเศร้า” 

‘ครู’ ที่ขาดโอกาสความเป็นมนุษย์ไม่อาจสร้างเด็กให้มีความเป็นมนุษย์ได้

      ครู คือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดในระบบ และมีหน้าที่สำคัญในการส่งมอบคุณค่า รวมทั้งเป็นเบ้าหลอมในการพัฒนาตนเองของเด็ก ครูจึงเป็นผู้ที่มองเห็นทั้งคุณค่า และปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก แต่ภาระงานเอกสาร และระบบที่ให้ค่ากับความเก่ง การแข่งขัน และความสามารถเชิงวิชาการ ทำให้ครูไม่สามารถเชื่อมโยงและช่วยเหลือเด็กได้ หลายคนรู้สึกชาชินกับปัญหา หลายคนรู้สึกผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และผลสุดท้ายที่ปลายทางคือครูค่อยๆ ลดทอนความรู้สึกเหล่านั้นลง 

      “เวลามีปัญหาในระบบการศึกษา หรือเด็กมีปัญหาขึ้นมา ส่วนใหญ่คนจะหันไปโทษที่ครูก่อน โดยที่เราไม่ได้คิดว่าจริงๆ แล้วเราไม่มีระบบสนับสนุนที่จะช่วยให้ครูสามารถรับมือกับปัญหา เวลาครูมีปัญหา ครูไม่มีที่ไป ไม่มีใครรับฟังครูเลย”

      “ในทุกวัน ครูจะรับเรื่องจากฝ่ายบริหาร งานธุรการ ปัญหามาจากทั่วสารทิศ ครูส่วนใหญ่มีภาระงานมากเกินไป เวลาที่ครูเครียด ครูไม่มีที่ระบายออก ก็ไประบายกับเด็ก หรือไม่ก็ลงกับตัวเอง แล้วมันก็เป็นพิษกับตัวเอง ครูก็จะเป็นมะเร็ง ป่วย ซึมเศร้า เบิร์นเอาท์”

      โครงการหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษา ที่ริเริ่มขึ้นโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มีเป้าหมายเพื่อพาครู ผู้เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ไปถึงเด็กโดยตรง ได้สัมผัสถึงพื้นที่ปลอดภัย และการรับฟัง เพื่อให้ครูคลี่คลายและสัมผัสความเป็นมนุษย์ในตัวเอง และส่งผ่านความรู้สึกเหล่านั้นไปในชั้นเรียน

      “ต้องพาเขากลับมาสัมผัสความเป็นมนุษย์ พอเขาได้กลับมาสัมผัสสิ่งนั้นในตัวเอง ก็จะเริ่มเห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตัวเขากับลูกศิษย์ ระหว่างตัวเขากับเพื่อนร่วมงาน ตัวเขากับผู้บริหาร การเห็นสายสัมพันธ์นี้จะทำให้มุมมองต่อการทำงานเริ่มเปลี่ยน ใจของครูจะเปิดมากยิ่งขึ้น เขาจะสามารถมองเห็นแล้วว่าทำไมลูกศิษย์ถึงไม่อยากเรียน และเริ่มเปลี่ยนวิธีที่เขาจะดีลกับเด็ก และความสัมพันธ์ที่เขามีกับเด็ก ไม่ใช่แค่การบังคับอย่างเดียว” 

      “เมื่อครูเปิดใจและให้ใจเด็ก เด็กหลายคนในชีวิตของเขาไม่มีโอกาสได้รับสิ่งนี้จากที่ไหน เพราะหลายครอบครัวทำหน้าที่นี้ไม่ได้ พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ บางคนต้องไปทำงานต่างจังหวัดทำให้ต้องทิ้งลูกไว้กับปู่ย่าตายาย เด็กจะรู้สึกว่าเขาไม่มีที่พึ่ง แต่พอมีครูที่เข้าใจ รับฟัง เด็กในชั้นเรียนของครูที่มาอบรมกับเรา บางครั้งจะมานั่งรอ ปิดคอร์สไปแล้วก็มาบอกครูว่าอยากเรียนอีก”

      “ถ้าครูในระบบหลักของการพัฒนามนุษย์ในประเทศของเรายังคงทุกข์ยากมากๆ เราก็ไม่อาจสร้างระบบที่จะพัฒนามนุษย์ให้เป็นคนอย่างสมบูรณ์ได้ และวิธีหนึ่งที่สำคัญคือการต้องมาดูแลจิตใจของครูเหล่านี้ก่อน กระบวนการจิตตปัญญาคือการสร้างประสบการณ์ที่ทำให้เขาสัมผัสความเป็นมนุษย์ในตัวเอง รักษาใจ และสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ให้เขา เพื่อให้เขาเป็นคนส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กๆ” 

      ยุทธศาสตร์หนึ่งของโครงการหยั่งรากจิตตปัญญา คือการทำงานกับระดับมหาวิทยาลัย เพื่อหยั่งรากวิธีคิดและมิติความเป็นมนุษย์ให้กับมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ผลิตครูไปสู่ระบบการศึกษา 

       “ยกตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อาจารย์และผู้บริหารที่นี่มีความสนใจเรื่องนี้เป็นทุนเดิม ที่นี่เราหยั่งรากหัวใจความเป็นมนุษย์ไว้ที่วิชา general education หรือวิชาพื้นฐาน ภายใต้ชื่อวิชาพัฒนาตน วิชานี้เป็นวิชาที่นักศึกษาปีหนึ่งทุกคนต้องเรียน แต่ก่อนที่ครูจะสอนและขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้กับนักศึกษาได้ อาจารย์ก็ต้องพัฒนาตนเป็นก่อน เข้าถึงหลักการและหัวใจสำคัญของการพัฒนาตนให้ได้จริงๆ พออาจารย์มาผ่านกระบวนการนี้กับพวกเรา เขาจะค้นพบอย่างหนึ่งว่าตัวเขาเองก็ต้องการสิ่งนี้ด้วยเหมือนกัน และหากเขาไม่ได้มองเห็นสิ่งนี้ในตัวเอง เขาก็ไม่สามารถเห็นความต้องการนี้ในตัวเด็กได้” 

      “นอกจากจะจัดกิจกรรมให้กับครู คนอีกกลุ่มที่สำคัญที่พวกเราทำงานด้วย คือผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตั้งแต่อธิการบดี รองอธิการบดีทั้งหมด สภามหาวิทยาลัย ตัวแทนมหาวิทยาลัยทั้งหมด ที่ราชภัฏภูเก็ต ผู้บริหารได้เข้ามาผ่านกระบวนการเหล่านี้ ซึ่งทำให้เขาเข้าใจจริง ๆ ว่าเป้าหมายของกระบวนการแบบนี้มันจะทำให้เกิดอะไรบ้าง เพราะอะไร การศึกษาจำเป็นต้องมีหัวใจความเป็นมนุษย์ และผู้บริหารจะช่วยสนับสนุนอย่างไรเพื่อให้เกิดสิ่งนี้ในมหาวิทยาลัยได้จริง” 

ทวงคืนความเป็นมนุษย์ให้ระบบการศึกษา

      กระบวนการจิตตปัญญามิใช่กระบวนการที่นำความรู้ทางจิตตปัญญามาป้อนให้ครูเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และกิจกรรมเพื่อทำให้ครูและอาจารย์ที่มาเข้าร่วมเวิร์กช็อปได้มีโอกาสสัมผัสถึงความเป็นมนุษย์ในตัวเอง 

      คำว่า “ความเป็นมนุษย์” หมายถึง เป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก มีความไม่สบายใจ มีความทุกข์ มีโลกทัศน์ มีวิธีคิด มีจิตวิญญาณและมีเป้าหมายในชีวิต ตัวครูอาจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยตรงกับเด็ก ก็จำเป็นต้องได้รับโอกาสในการเห็นความเป็นมนุษย์ของตัวเอง มีพื้นที่ในการดูแลความทุกข์ในใจ ความอึดอัดใจที่เกิดขึ้นภายใน 

      “ในกระบวนการมันจะมีส่วนที่ได้ดูแลใจครู เราค้นพบว่าครูกำลังอยู่ในสภาวะท่วมท้น ไร้ทางออก พอเขามาอยู่ในกระบวนการกับเรา เขาสะท้อนเลยว่าเวลาเขามาที่นี่ เขารู้สึกเหมือนได้มาพัก แล้วได้กลับมาทบทวนตัวเอง กลับมาเข้าใจตัวเอง เห็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง แล้วเห็นสิ่งที่เขาอยากจะพัฒนาต่อไปในฐานะความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ในฐานะของความเป็นครูอาจารย์”

      เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน ครูก็มีโอกาสในการทำผิดพลาด และการที่ครูได้มีโอกาสในการทบทวนตัวเอง ยอมรับสิ่งที่ต้องแก้ไข ได้รับโอกาสในการให้อภัยตัวเอง  ทำให้ครูไปต่อและพัฒนางานของตัวเองขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นคุณภาพที่เราอยากเห็นมากขึ้นในระบบพัฒนามนุษย์ของประเทศ 

       “หลายคนบอกว่า เขาเพิ่งเข้าใจว่าที่ผ่านมาเขาทำร้ายเด็กไปเยอะมากโดยที่เขาไม่รู้ตัวเลย การสอนที่ใช้อำนาจเหนือกับเด็กอย่างไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว  เพราะตัวเขาเองก็ถูกทำแบบนี้มาตอนเขาเป็นนักเรียน มันถูกส่งผ่านมา แล้วเขาก็ไม่ได้เห็นวิธีการแบบอื่น เขาก็ต้องทำแบบนี้แหละ ครูมีหน้าที่สั่งสอน แล้วเวลาเด็กส่งงานหรือไม่ส่งงาน เข้าเรียนไม่เข้าเรียน สิ่งที่ครูมีอำนาจคือคะแนน ก็ใช้เพียงวิธีการตัดคะแนนหรือทำให้มีสิทธิ์สอบหรือไม่มีสิทธิ์สอบ สอบผ่านหรือไม่ผ่าน อันนี้คือสิ่งที่ครูมีอยู่ในมือ เป็นอำนาจของครู แต่อำนาจเหล่านี้ไม่พอที่จะช่วยเด็กให้พัฒนาขึ้น และเขาพบว่าสิ่งเหล่านั้นก็ใช้ไม่ได้ผลกับเด็กอีกต่อไป”  

      “ผลของการใช้อำนาจแบบนี้ คือเด็กหลายคนก็หลุดออกนอกระบบ ปฎิเสธการเรียนรู้ ไม่เข้าห้องเรียน บางทีก็หายไปเป็นเดือน ยิ่งโดยเฉพาะกับเด็กที่มีความยากลำบากในเรื่องของชีวิต บางคนต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เขาก็จะไม่เลือกการเรียน เพราะระบบผลักไสเขา เขาก็เลือกไปทำงานเลย หรือมานั่งเรียนในชั้นเรียนนั่งไปอย่างนั้น  ไม่ได้ให้ความร่วมมือ พอเกิดแบบนี้ ครูก็รู้สึกหมดพลัง พอหมดพลังก็กลับมาใช้ความเคยชินอีก กลายเป็นวงจร”

      อาจารย์อุ๊ยเล่าว่า ในกระบวนการ มีการถามครูว่า เป้าหมายของการเป็นครูของพวกเขาคืออะไร ครูหลายคนตอบว่า อยากให้เด็กเป็นเด็กดี ประสบความสำเร็จ มีพัฒนาการที่ดี และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี แต่ที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น และยิ่งสอนเด็กก็ยิ่งไร้พลัง

      “พอเขาได้มาเห็นในกระบวนการที่เราเปลี่ยนวิธีการใช้อำนาจเหนือ มาเป็นการรับฟัง และเสริมพลังให้กับผู้เรียน เขาได้เห็นทางเลือกอื่นที่ทำได้ และตัวเขาเองก็ได้รับพลังเหล่านั้นกลับมาจากนักเรียนด้วย เด็กๆ มีแววตาที่สดใส มีพลัง คนเรียนก็อยากเรียน คนสอนก็อยากสอน อาจารย์ที่มาเข้ากระบวนการกับเราบางคน พอเขาปลดล็อคอันนี้ ได้รับพลังแบบนี้ เขายิ่งอยากทำเพิ่ม ทำกับเด็กที่สอนไม่พอ ไปเป็นอาสาทำกับผู้ต้องขังในเรือนจำ ไปทำกับคนในชุมชน มันกลายเป็นผลกระทบทางบวกที่ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ” 

      31 ปีของการขับเคลื่อนการศึกษาที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ ได้สร้างพลังให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างมากมาย พลังเหล่านี้ก็ส่งกลับมาให้คนทำงานกลายเป็นวงจรใหม่ที่เสริมพลังทางบวก แทนวงจรเดิมที่ใช้อำนาจและลดทอนความเป็นมนุษย์

      “มันทำให้เรารู้สึกมีพลังในการทำงาน รู้สึกว่ายิ่งทำยิ่งเกิด ยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่กับครู กับทีมทำงานของเราด้วย ทุกวันนี้เรามีทีมทำงานมากมายที่เราไปหยั่งรากไว้และทำงานในพื้นที่ งานในปีก่อนๆ เราก็ยังอยู่กับเขายังคอยไปดูแลเขาบ้าง เขาก็จะกลับมาเล่าให้ฟังเป็นระยะ ๆ เหมือนอยากมาอวดว่าไปทำมาแล้วเป็นยังไง บางคนกลับมาเล่าด้วยแววตาสดใส บอกเราว่าเขาไปขยายผลให้กับคนหลายกลุ่ม มันดีมากเลย การที่เห็นประกายตา และพลังเหล่านั้น ว่าเขาอยากไปทำอีก อยากไปส่งต่อแบบนี้เยอะๆ เราก็ได้รับพลังนั้นส่งกลับมาที่เราด้วย มันเห็นผลแบบเกินคาดมาก ๆ เราเห็นอนาคตของสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงต่อจากนี้”

Back To Top