ยอมรับตัวตนและโอบอุ้มความเปราะบาง เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสมดุลในใจไปกับ Studio Persona

  • 24 มีนาคม 2566
“ปัทคิดว่าในวัยเด็กหรือในวัยหนึ่ง มันจะมีช่วงที่เรารู้สึกว่าเราต้องการเชื่อมโยงเพื่อเติบโต เรียนรู้ หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เราก็เลยไปเชื่อมโยงกับอย่างอื่นแทน อย่างเช่นเชื่อมโยงกับการวาดรูประบายสีและจินตนาการของตัวเองแทน คำว่า โดดเดี่ยว

“ถ้าพูดถึงวัยเด็ก ปัทยอมรับว่าว่าคำแรกที่นึกถึงในใจคือคำว่า โดดเดี่ยว เพราะว่าเราเติบโตมาแบบลูกคนเดียว ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นคนยุคเบบี้บูมเมอร์ที่ทำงานเต็มเวลาทั้งสองท่าน ปัทจะใช้เวลาอยู่กับบ้านคนเดียว ไม่อ่านหนังสือก็วาดรูป ทั้งที่เราเองเป็นเด็กที่อยากมีเพื่อนมากๆ แต่เราอาจจะเป็นเด็กที่สื่อสารไม่เก่ง แล้วก็ไม่ค่อยได้ใช้เวลาวัยเด็กกับเพื่อนหรือใครเลยถ้าไม่ใช่ที่โรงเรียน

“ปัทคิดว่าในวัยเด็กหรือในวัยหนึ่ง มันจะมีช่วงที่เรารู้สึกว่าเราต้องการเชื่อมโยงเพื่อเติบโต เรียนรู้ หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เราก็เลยไปเชื่อมโยงกับอย่างอื่นแทน อย่างเช่นเชื่อมโยงกับการวาดรูประบายสีและจินตนาการของตัวเองแทน คำว่า โดดเดี่ยว จึงอาจจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของตัวเองในการทำสิ่งนี้ในวันนี้”

      ‘สิ่งนี้ในวันนี้’ ที่ ปัท-ปรัชญพร วรนันท์ พูดถึง นั่นคือการก่อตั้ง Studio Persona สเปซบนชั้น 5 ของอาคารย่านอโศกที่เธอตั้งใจให้เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับทุกคนที่เข้ามาใช้บริการ ผ่านการใช้เครื่องมืออย่างศิลปะบำบัด ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เธอถนัดและเชื่อว่าช่วยให้คนสามารถระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้ และการระบายออกมานั้นจะนำไปสู่การเข้าใจตัวเองมากขึ้น รวมไปถึงการจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง

 

 

    เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับ Persona และ Shadow สองด้านตรงข้ามที่หลอมรวมเป็นตัวเรา

     “ในความรู้สึกปัท Persona กับ Shadow มันเป็นเหมือนหยิน-หยางที่อยู่ในตัวเรา มีทั้งขาวและดำอยู่ร่วมกัน ถ้าพูดถึงในแง่จิตวิทยา Persona จะเป็นตัวเราในพาร์ทที่เราปรับตัว ใช้ชีวิต เชื่อมโยงกับผู้อื่น เป็นเราที่อาจจะใช้รูปแบบเหตุและผล เป็นตัวเราที่ปรับตัวเข้ากับหลายๆ ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อน กับครอบครัว กับคนรัก

      “ส่วน Shadow อาจเป็นพาร์ทที่ค่อนข้างเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรา ซึ่งไม่ได้จำเป็นเชิงว่าต้องเป็นเชิงลบเสมอไป แต่เรียกว่าเป็นอีกด้านของความรู้สึกมากกว่า อาจจะเป็นตัวเราอีกคนหนึ่งที่มีความกลัว ความเปราะบาง ความกังวล หรืออาจเป็นความรู้สึกบางอย่างที่ลึกซึ้งและใกล้ชิดกับตัวเราในอีกรูปแบบหนึ่ง เรามักจะรู้สึกถึงส่วนนี้ในช่วงเวลาที่เราอยู่กับตัวเอง หรือบางทีเรารู้ว่าเรามีความรู้สึกเหล่านี้อยู่ แต่เราไม่ค่อยได้บอกกับใคร ไม่ค่อยได้ใช้ในความสัมพันธ์อื่นๆ แบบที่ Persona ของเราใช้”

      สำหรับบางคน การค้นพบ Shadow ของตัวเองเป็นเรื่องน่าตกใจ โดยเฉพาะการค้นพบในห้วงเวลาที่ไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน ซึ่งปัทอธิบายถึงความรู้สึกนี้ว่า เป็นเรื่อง ‘ปกติ’

     “ความรู้สึกรับไม่ได้หรือตกใจที่เรามีพาร์ทนี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติ มันอาจจะเป็นความรู้สึกว่า ความเปราะบางไม่แข็งแรงนี้เราควรมีหรือเปล่า หรือเราควรจัดการอย่างไรกับอารมณ์อ่อนไหว ซึ่งปัทมองว่า จริงๆ แล้ว Shadow ก็เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งของเราที่ทำให้เราได้เรียนรู้และรู้จักตัวเองมากขึ้น เมื่อเรารู้จักตัวเองแล้ว เราก็จะอยู่ร่วมกันกับความรู้สึกที่เปราะบางเหล่านั้นได้

      “ปัทมองว่าจริงๆ แล้ว ในเรื่องจิตใจของมนุษย์เราไม่ได้มีคำว่า สมบูรณ์แบบ แต่ความไม่สมบูรณ์แบบนั่นคือความรู้สึกสมบูรณ์แบบของการที่เราไม่ได้จำเป็นที่จะต้องมีใจที่แข็งแรงที่สุดตลอดเวลา ดังนั้น มันเลยนำไปสู่ศักยภาพตัวเองในการโอบอุ้มพื้นที่ของ Shadow หรือความรู้สึกเปราะบางที่อาจเกิดขึ้นได้

      “ในแง่การทำงานก็คือ หากเราอยากจะเข้าใจตัวเองหรือพัฒนาศักยภาพตัวเองในการโอบอุ้ม Shadow ของเรา จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะอย่างที่บอกว่า Shadow ไม่ได้เป็นเชิงลบเสมอไป มันอาจเป็นขุมพลังบางอย่างในการที่เราโอบอุ้มอดีตหรือประสบการณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของเราในวันนี้

      “ความรู้สึกตกใจที่เจอพาร์ทนี้จึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่เข้าใจได้มากๆ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นอีกก้าวที่เราจะมีพื้นที่ในการเข้าใจที่มาที่ไปของความรู้สึกนี้ หาความหมายกับมัน หรือมองว่าเราจะอยู่ร่วมกันกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้อย่างไร”

 

 

การยอมรับ ก้าวแรกที่สำคัญของการค้นหาความหมายของความรู้สึก

     “เมื่อเราเจอกับความรู้สึกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการยอมรับ ยอมรับว่าเรามีพาร์ทนี้หรือมีพื้นที่เหล่านี้อยู่ในตัวนะ เราไม่ผลักไสเขา ไม่กดดันตัวเองว่าจะต้องแข็งแรงหรือเข้มแข็งตลอดเวลาเท่านั้น บางครั้งการที่เห็น Shadow ทำให้เรารู้ว่าบางอย่างเราต้องใช้เวลากับมัน หรือต้องสร้างขอบเขต ที่เราต้องใช้เวลาทำงานกับสิ่งนี้เพราะบางทีเราอาจจะไม่ได้มีเวลาหยุดพักเพื่อมองเห็น

     “นอกเหนือจากยอมรับคือการเผชิญหน้า เราอาจให้เวลาในการเลือกวิธีทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่เปราะบางหรือ Shadow ของเรา หากเราอยากโอบอุ้มหรือเข้าใจความหมายในสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ตอนนี้ ดูว่าเครื่องมืออะไรที่เหมาะกับเรา บางท่านสนใจศิลปะก็มาทำศิลปะบำบัดได้ หรืออาจเป็นเครื่องมืออื่นที่เรารู้สึกเชื่อมโยงหรือสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วก็ได้”

การเปิดใจยอมรับและเผชิญหน้ากับความรู้สึกที่เปราะบางของตัวเองคงไม่ใช่เรื่องที่หลายคนทำได้ตั้งแต่แรก ในฐานะนักศิลปะบำบัด นี่คือส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่นี้

      “หากเราอธิบายว่า Shadow เป็นส่วนหนึ่งของเรา แสดงว่าตัวเรามีอีกหนึ่งพื้นที่ หากเราพูดถึงพื้นที่เหล่านี้ มันเป็นเหมือนพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในอดีต หรือบางสิ่งที่ต้องจัดการ อารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้น

      “ถ้าเป็นตัวปัทเอง เวลาทำงานกับผู้เข้ารับบริการ ปัทอาจจะถามเขาว่า เขารู้สึกกับคำว่า Shadow อย่างไร ให้ตัวบุคคลเขาอธิบายมา ปัทเองอยากฟังเขาก่อนว่า ตัวเขาเองหรือพื้นที่เชื่อมโยงกับคำคำนี้อย่างไร เขามองว่าอยู่ในตัวเขาหรือแยกออกมา แล้วก็อาจจะมองต่อไปถึงเป้าหมายของเขาว่า เมื่อรู้ว่ามี Shadow อยู่ ความตั้งใจคืออะไร ดังนั้น การทำงานก็อาจจะเป็นในรูปแบบที่ว่าเราฟังความตั้งใจของผู้เข้ารับบริการด้วย

      “ตัวปัทเองก็มองว่า Shadow เป็นหนึ่งในโอกาสที่เราได้ทำงานกับตัวเองในหลายๆ มุม เพราะมันเปิดโอกาสให้เราเห็นว่าเรามีพาร์ทใหม่ๆ เรามาลองทำความเข้าใจและโอบอุ้มอารมณ์เหล่านั้นกัน ซึ่งที่มาที่ไปอาจเป็นประสบการณ์ในอดีต ความสัมพันธ์บางอย่างที่เกิดขึ้น เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาที่อาจจะยังจัดการไม่ได้ ยังไม่ได้ทำความเข้าใจ หรือส่งผลกระทบกับเขามากว่าที่เขาคิดก็ได้ การทำงานเหล่านี้เพื่อให้เขามองเห็นความหมายใหม่และค้นพบศักยภาพที่จะเติบโตไปกับส่วนนี้ของตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปด้วยกัน

      “การพูดถึง Shadow ของตัวเองถือเป็นการเชื้อเชิญอย่างหนึ่ง คือเราได้เริ่มทำงานกับตัวเองแล้ว เมื่อเราตระหนักรู้ว่ามีส่วนนี้และมีความตั้งใจบางอย่างที่จะทำงานกับมัน แม้ว่ามันจะน่ากลัว แม้ว่าจะรู้สึกว่าแล้วจะทำได้อย่างไร แม้ว่าจะกังวลกับการทำงานของพื้นที่ในส่วนนี้ แต่นี่คือจุดเริ่มต้น” 

 

 

วางทุกบทบาท เพื่อพื้นที่สงบสุขของตัวเอง

      “ในทางกลับกัน หากมองว่า Persona เป็นตัวตนที่หลากหลายของเรา ปัทว่าการที่เราต้องใช้ศักยภาพในการปรับตัวตลอดเวลาในพาร์ทของ Persona ไม่มีช่วงว่างในการพักได้บ้าง เพราะต้องเป็นทั้งลูก ทั้งแม่ ทั้งเพื่อน เป็นทุกๆ บทบาทตลอดเวลา พาร์ทนี้ก็สามารถเป็นลบได้ เพราะฉะนั้นมันน่าจะมีช่วงเวลาที่เราได้วางทุกๆ บทบาทของเราลง เพื่อเราจะได้มีพื้นที่สงบสุขของเราเอง โดยที่เราไม่ต้องเป็นใครเลย

      “พอเราวางทุกๆ บทบาทของตัวเองและได้มีพื้นที่ปลอดภัยของเราเองที่เราจะได้รู้สึกลึกซึ้งไปกับตัวเอง หรือมีช่วงเวลาที่สงบให้ตัวเอง มันมีค่ามากๆ เพราะถ้า Persona ถูกใช้ตลอดเวลา เป็นไปได้ว่าเราอาจจะเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า สรุปแล้วเราคือใคร หรือจริงๆ แล้วเราต้องการอะไรกันแน่

      “อีกอย่างหนึ่ง ความหมายของ Persona และ Shadow สำหรับแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่มีผิดถูกเลย อย่างบางคนที่ทำงานบางอย่างแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง แล้วตั้งคำถามว่าถ้าเราทำงานในบทบาทตรงนี้ต่อไป เราจะไหวหรือเปล่า จริงๆ มันอาจจะเป็นวอยซ์ของ Shadow ที่มีไดอะล็อกร่วมกันกับ Persona ของเรา

      “เพราะฉะนั้นปัทเลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้ว ทั้งสองอย่างนี้มันไม่ได้แยกจากกัน Shadow อาจจะเป็นเงาก็จริง แต่ก็เป็นการปกป้องเราได้ เป็นการตั้งคำถาม เป็นสัญญาณบางอย่างที่กำลังบอกกับเราว่า ควรดูแลตัวเองนะ หรือว่าตอนนี้พาร์ทนี้ของเธอกำลังทำงานอย่างหนักมาก มาเปิดโอกาสให้ตัวเองมีช่วงเวลาในการทบทวนตัวเองใหม่ว่า สิ่งไหนสำคัญกับเราหรือเราปรับตัวเองได้อย่างไร

      “ตัวปัทเองก็ต้องคอยฝึกให้รู้ตัวอยู่ตลอด อย่างถ้าพูดถึงช่วงเวลานี้ ปัทจะตระหนักรู้เมื่อมันมาถึงขอบเส้นที่เป็นคำว่า เหนื่อย เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา 3 ปี ปัทก็ถือว่าเป็นคุณแม่มือใหม่ เป็นอีก Persona หนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันปัทก็พยายามที่จะปรับตัวกับการที่ว่า เราเป็นคนชอบทำงาน อยากทำงาน และยังอยากทำงานต่อไปแม้ว่าจะเป็นคุณแม่ มันเลยเป็นการบริการจัดการระหว่างสองบทบาท ไม่รวมกับการที่เราเป็นลูกคนเดียวที่คุณพ่อคุณแม่อยู่ในช่วงวัยที่ต้องประคอง ทำให้มันมีหลาย Persona แล้วบางทีปัทจะไม่ค่อยได้เปิดโอกาสให้ฟังวอยซ์ของตัวเองว่า แก แกเหนื่อยมากนะ หรือว่าตรงไหนที่บาลานซ์

      “ปัทยอมรับว่าจุดนี้เรายังไม่สามารถมองหาบาลานซ์ที่เรามองว่า อุ๊ย เราทำได้ดี แต่ทั้งหมดทั้งมวล ปัทจัดการในวิธีการที่ว่าเราฝึกรู้ตัวไปเรื่อยๆ ฝึกรู้ตัวว่าเครียด วันไหนจัดการได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่เป็นไร และความจริงก็อยากจะขอบคุณพาร์ท Shadow ของตัวเองที่บางทีก็เปล่งเสียงออกมา หรือกระซิบออกมา บางทีก็ออกแบบมาในรูปแบบของร่างกายที่รู้สึกเหนื่อยๆ หนักๆ

      “หรือแม้กระทั่งลึกๆ เราเชื่อในสัญชาตญาณบางอย่างของตัวเองว่าร่างกายเราพยายามจะบอกอะไรกับเรา ปัทก็เลยคิดว่าเป็นการฝึกการรู้ตัว ฝึกการมองทั้งข้างนอกและข้างใน มองข้างนอกในที่นี้ก็คือเรามีความสัมพันธ์ที่เชื่อมกับอะไรอยู่บ้าง กับลูกเรา ที่บ้านเรา งานของเรา ทีมของเรา ความตั้งใจและความคาดหวังของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองออกไป ในขณะเดียวกัน เราก็พยายามที่จะให้เวลากับการเชื่อมสัมพันธ์ข้างใน ซึ่งยอมรับว่าช่วงนี้อาจจะน้อยเพราะเราลงแรงไปกับการเชื่อมสัมพันธ์ข้างนอกแทบจะทั้งหมด เลยบาลานซ์กันที่ว่า บางทีเราอาจจะเปิดโอกาสฟังตัวเองได้ หรืออีกเรื่องที่ท้าทายก็อย่างเช่น ชื่นชมตัวเองว่าทำได้ดีแล้ว

      “การชื่นชมตัวเองเป็นเรื่องไม่ง่ายเป็นเพราะว่าเรามีความคาดหวังกับตัวเองตลอดเวลา เราถือหลายบท Persona เราต้องตอบโจทย์บางอย่าง ต้องมีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง เพราะฉะนั้นเลยอาจทำให้ไปโฟกัสที่ทุกๆ อย่างมันต้องสอดคล้องกัน ต้องไปถึงเป้าหมาย ต้องลงตัวในความรู้สึกเรา

      “แต่เราลืมไปว่า อย่างน้อยเราก็ให้เวลากับทุกๆ บทบาทในแต่ละวันได้ดีแล้ว ยกตัวอย่างบางทีปัทก็จะจบที่ว่าเราจะมองเห็นว่า เราน่าจะทำได้ดีกว่านี้นะ อย่างเวลาลูกเราไปจับหมา เราไม่น่าใช้แค่ผ้าเปียกเช็ด ทำไมเราไม่ให้ล้างมือถูสบู่นะ ซึ่งทำให้เราลืมไปว่า ทั้งหมดทั้งมวลเราทำได้ดีแล้ว มันคือการที่เราเปิดโอกาสให้เราได้เปลี่ยนมุมมองจากที่เราตัดสินตัวเองในช่วงเวลาหนึ่ง  ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องฝึก พอบางช่วงบทบาทล้นมือก็เหมือนเราต้องมาเริ่มต้นใหม่กับตัวเองอีกทีในการชื่นชมตัวเอง

      “แต่ปัทว่าการเดินทางนี้ซึ่งเป็นการเดินทางของจิตใจและการเดินทางของการเติบโตของมนุษย์ทุกคนในการยืดหยุ่นตัวเอง มันเป็นทักษะหนึ่งในการสร้างความยืดหยุ่นให้กับตัวเอง อย่างถ้าเรารู้สึกได้ว่า Persona เขาทำงานเยอะ ก็ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ได้ฟัง Shadow บ้าง เพราะเขาอาจจะบอกเราว่าพักบ้างนะ หรือช่วงนี้เราเศร้าจังเลย มีอะไรบางอย่างหรือเปล่าที่เราต้องจัดการกับความสัมพันธ์นี้ กับสิ่งที่เราถืออยู่หรือเปล่า

     “ปัทคิดว่าไม่มีพื้นที่ใดเป็นแสงสว่างหรือความมืดชัดเจนขนาดนั้น มันคือการอยู่ที่ด้วยกันแบบกลมๆ ในตัวเรา”

 

 

พื้นที่ปลอดภัยที่ใช้ ‘ศิลปะ’ เป็นเครื่องมือในการสร้าง

      จากเด็กที่สื่อสารไม่เก่งในช่วงวัยหนึ่ง กลายมาเป็นคนที่ต้องทำเกี่ยวกับการสื่อสารตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับนักศิลปะเจ้าของ Studio Persona ที่กำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 10 เป็นเพราะการรู้จักเครื่องมือที่ใช้อย่างศิลปะเป็นอย่างดี และเชื่อมั่นว่าศิลปะจะเป็นเครื่องมือใหม่ในการช่วยให้ทุกคนเห็นศักยภาพที่หลากหลายของตัวเอง เป็นทั้งเครื่องมือในการสร้างสรรค์ ปลดปล่อย และทำความเข้าใจตัวเอง บวกกับประสบการณ์ที่สอนให้ตัวเธอเองรู้จักยืดหยุ่นในบทบาทของตัวเองมากขึ้นด้วย

      “พอเราทำงานมาเรื่อยๆ ปัทยอมรับว่าปัทจะวางเรื่องทฤษฎีลง แล้วเชื่อมั่นในธรรมชาติของความสัมพันธ์ในการทำงานรูปแบบนี้ขึ้นแทบจะ 100% พอเราเชื่อมั่นในภาษาที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด หรือเราพยายามจะให้ผู้เข้ารับบริการของเราเขารู้สึกเป็นธรรมชาติของตัวเองด้วยตอนที่เขาอยู่กับเรา ปัทเลยเรียนรู้ว่า เราต้องยืดหยุ่นกับตัวเองในบทบาทที่เราทำมากขึ้น พอทำมาถึงจุดหนึ่ง เราค้นพบธรรมชาติบางอย่างของการทำศิลปะบำบัดแบบ Expressive Art ของตัวเอง

      “แล้วก็เป็นเรื่องปกติมากที่บางคนได้ยินคำว่า ศิลปะ แล้วจะไม่มั่นใจ ความไม่มั่นใจอาจจะมาจากประสบการณ์เก่า อย่างเช่นไม่ได้วาดรูปนานแล้วหรือตอนเด็กๆ เคยวาดรูปภูเขาเป็นสีแดงแล้วครูให้แก้ เลยผิดหวัง ปัทก็จะบอกผู้เข้ารับบริการว่า เป้าหมายหนึ่งของการบำบัดคือการสร้างประสบการณ์ใหม่ เพราะฉะนั้นศิลปะก็เช่นกัน หากกลัวหรือรู้สึกกังวล เป็นเรื่องที่เข้าใจได้มากๆ เรามาลองสร้างประสบการณ์ใหม่กับศิลปะกันในพื้นที่นี้

      “ต่อไปปัทก็จะบอกถึงข้อตกลงของที่นี่ว่าไม่เกี่ยวกับทักษะเลย มองศิลปะให้เป็นอีกเครื่องมือในการช่วยเขาให้ตระหนักว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราแล้วเล่าเรื่องออกมา หรือว่ารู้สึกอย่างไรในร่างกาย ลองวาดออกมาให้หน่อยได้ไหม โจทย์ของเราไม่จำเป็นต้องคาดหวังว่าต้องสวยงามที่สุด เพราะเป้าหมายของเราคือการที่เรามีพื้นที่ให้กับกระบวนการนี้มากกว่า อันนี้เป็นผลลัพธ์สุดท้าย เพราะฉะนั้นจะชี้แจงเลยว่า วาดรูปไม่เป็น ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องห่วงเลยค่ะ เดี๋ยวเราค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป กับการสร้างประสบการณ์ใหม่นี้ในโลกศิลปะด้วยกัน พอเป็นแบบนี้ แต่ละท่านเองเขาก็จะค้นพบความประหลาดใจและความสนุกระหว่างทาง

      “บางครั้งปัทก็จะลองวาดรูปไปกับเขา ปัทว่ามันคือการที่เรามีความเชื้อเชิญให้ทุกคนได้สัมผัสอะไรใหม่ๆ กลับมาลองหาความหมายใหม่ว่า วันนี้เรียนรู้อะไร ได้สะท้อนกับตัวเองในทุกๆ เซสชั่น ทีนี้ความหมายในการเชื่อมโยงกับศิลปะของคนคนนั้นอาจจะเปลี่ยน อย่างเช่น วันนี้สนุกดี วันนี้ได้ทำอะไรแปลกๆ ไม่ได้สนุกแบบนี้มานานแล้ว หรือวันนี้ได้มือเลอะ ดีจังเลย

      “อีกพาร์ทหนึ่งของการทำงานที่นี่คือเราอยากให้ผู้ที่มารู้สึกปลอดภัยที่สุด ด้วยความที่ว่าเครื่องมือของศิลปะบำบัดอาจจะมีหลากหลาย สำหรับใครที่ไม่ได้วาดรูปมานานหรือค่อนข้างมีความกลัวเกี่ยวกับศิลปะ ปัทจะใช้รูปแบบของที่เรียกว่า Dry Material ก่อน เพราะจะช่วยให้มีเซนส์ในควบคุมเครื่องมือได้ค่อนข้างดี หรือว่าบางทีเราจะใช้ดินสอแท่งใหญ่ๆ มาดวาดรูปกันด้วยสองมือ ใช้การจับอีกหลายรูปแบบเพื่อให้รู้สึกมั่นคงและมั่นใจ

      “หลังจากนั้นถึงจะเริ่มไปทำงานกับประสาทสัมผัสรูปแบบอื่นๆ อย่างสีน้ำซึ่งเป็น Wet Material ก็จะไม่ได้ใช้พู่กันตลอดเวลา แต่จะใช้มือเลยในการเล่นกับสี หรือใช้การปั้น ความชื้นหรือว่าการทำงานกับประสาทสัมผัสกับ Wet Material ก็จะมีประโยชน์ในการที่ได้รีคอนเน็กเชิงลึกกับตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันต้องให้บุคคลผู้นั้นรู้สึกปลอดภัยก่อน เพราะว่าสิ่งที่เปียกอาจจะกระตุ้นความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย สำหรับบุคคลที่อาจเคยมีประวัติเกี่ยวกับการถูกทำร้ายบางอย่าง สีเปียกอาจเป็นตัวกระตุ้นได้ เพราะฉะนั้นเขาต้องรู้สึกว่าพื้นที่นี้ปลอดภัย กระบวนการนี้ปลอดภัย แล้วก็ค่อยๆ เดินผ่านรูปแบบของอุปกรณ์ต่างๆ ไปด้วยกัน

       “ถ้าถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขาแล้ว เรารู้ได้ทั้งจากการคุยกันและการสังเกต อย่างบางครั้งจะมีการหลับตาเพื่อให้เขารีคอนเน็ก เพราะว่าเราจะปิดเซนส์ในการควบคุมด้วยสายตาเพื่อให้รู้สึกมากขึ้น ปัทก็จะบอกก่อนเลยว่า ถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัยให้ลืมตาได้เลยนะ ส่งสัญญาณได้เลย

       “อีกอันหนึ่งที่สื่อสารออกมาตลอดเวลาคือร่างกาย ปัทจะคอยสังเกตว่าร่างกายของผู้ที่เข้ารับบริการเป็นอย่างไร ยกไหล่ ตัวเกร็ง นิ้วมืองอหรือเปล่า หรือบางทีแค่มือที่วาง แล้วยกขึ้นอย่างนี้ คือเขาอาจจะยังไม่เชื่อใจ เพราะมือที่เชื่อใจคือที่วางราบลงไป การนั่งก็สามารถสังเกตได้เหมือนกัน เรามาจัดระบบร่างกายกันใหม่ไหม ไม่นั่งไขว่ห้าง นั่งสองขาเพื่อจะได้รู้สึกมั่นคง หรือว่าอาจมีการทำ Breathing Exercise เพื่อให้รู้สึกว่ากลับมาอยู่กับตัวเอง รู้สึกว่าหายใจสบายขึ้น เพราะการหายใจก็เป็นเครื่องมือยามฉุกเฉินเวลาเรารู้สึกถึง Anxiety หรือความเครียด

      “ทั้งหมดที่เราทำเพื่อให้ผู้เข้ารับบริการรู้สึกว่า เขามีศักยภาพที่จะไปต่อได้กับตัวเอง หรือว่าช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับความไม่ปลอดภัย ถ้าทำๆ อยู่แล้วรู้สึกกลัวหรืออึดอัด ปัทจะบอกเลยว่าให้เป่าลมออก หายใจเข้าออก เพื่อให้เขาลดความรู้สึกนั้นลง”

 

 

โกรธ เศร้า อารมณ์ที่คนเราไม่อยากอนุญาตให้เกิด

      “คนไม่ค่อยอนุญาตให้ตัวเองเศร้าหรือโกรธ เพราะเวลารู้สึกแบบนั้นเรามักจะไม่ค่อยชอบพฤติกรรมตัวเองด้วย แล้วความเศร้ากับความโกรธก็เป็นมวลอารมณ์ที่ค่อนข้างถาโถม อย่างความโกรธมันก็พุ่ง ความเศร้ามันก็ดิ่ง ทำให้เราไม่ชอบตัวเองที่ร้องไห้ ไม่ชอบตัวเองที่โกรธ

      “จริงๆ อารมณ์เหล่านี้เป็นทรัพยากรของเรา เป็นการสื่อสารบางอย่างของร่างกาย ของสมองที่บอกกับเรา ทั้งยังเป็นการจัดการตามธรรมชาติของร่างกายด้วย เพราะฉะนั้นเราเลยจำเป็นที่จะต้องร้องไห้ มันเข้าใจได้มากๆ เลยนะที่วันหนึ่งเราจะโกรธบ้าง เพราะแต่ละคนมีปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นให้เรามีสภาวะอารมณ์เหล่านั้นโดยธรรมชาติ แต่ที่บางคนไม่ชอบเพราะมันส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา แล้วบางทีเราเหนื่อยที่จะต้องปรับตัวเองให้รู้สึกเบาอีกครั้ง

      “การที่คนไม่ค่อยยอมให้ตัวเองเศร้าหรือโกรธมีผลต่อสุขภาพจิต เพราะถ้าเราไม่ได้ปลดปล่อยอารมณ์ อารมณ์ก็จะถูกเก็บอยู่ในพื้นที่ข้างในของเรา เหมือนเสียงที่ไม่ได้ออกมา เหมือนมวลพลังงานที่อัดแน่นอยู่ข้างใน หากเราคิดว่าถ้ามันเก็บอยู่ในนั้น วันหนึ่งมันก็จะล้น แล้วก็ถาโถมออกมา ระเบิดออกมาได้

      “ปัทเลยคิดว่าสิ่งสำคัญคือให้เรารู้ว่าอารมณ์แบบนี้เกิดได้ตามธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันอารมณ์เหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีพื้นที่โอบอุ้มเขาในรูปแบบวิธีการบางอย่าง อย่างเช่นถ้าเราโกรธแล้วต้องการปลดปล่อย เราจะมีวิธีที่ปลอดภัยอย่างน้อยกับร่างกายเรา และปลอดภัยในเชิงความรู้สึกอย่างไร หรือหากเรามีความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยกับตัวเราเองหรือใครสักคน เราอาจจะใช้โอกาสหรือใช้ความสัมพันธ์นั้นในการที่จะได้ระบายออกมาบ้าง ก็จะช่วยให้เรารู้สึกภัย ช่วยจัดการกับอารมณ์ ไม่อย่างนั้นมันจะติดแน่นอยู่ในเนื้อตัวเรา แล้วในระยะยาวก็อาจจะทำให้เรามีเรื่องของความวิตกกังวล มีเรื่อง Anxiety ด้วย

      “ตัวปัทเองจะชอบทฤษฎีหนึ่งที่พูดถึงกลไกการป้องกันตัวเองของมนุษย์เราว่า ในทุกๆ วันเรามีการใช้กลไกป้องกันตัวเองเหล่านี้ อันแรกเลยคือการที่เรา Fight หรือการสู้ สู้กลับหรือตอบโต้กลับ อย่างเช่นหากมีใครจะมาทำร้ายเรา เราก็จะสู้หรือป้องกัน หรือการใช้วาจาในการป้องกันตัวเอง อย่างต่อไปคือ Flight ก็คือเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์หรือพื้นที่นั้น ยกตัวอย่างเช่นเวลาเราเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้า แล้วมีสัญญาณไฟดังกริ๊งขึ้นมา เราจะรู้เองโดยสัญชาตญาณร่างกายบอกว่า ต้องไปที่ประตูทางออก ออกจากตรงนี้ถึงจะเซฟ

      “แต่ถ้าเราไม่สามารถใช้กลไกการป้องกันตัวหรือสู้กลับได้ เราเข้าจะสู่โหมดที่เรียกว่า Freeze ภาวะการแช่แข็ง มันเหมือนการกลืนไม่เข้า คายไม่ออก สู้ก็ไม่ได้ หนีก็ไม่ได้ อย่างเช่นสถานการณ์ที่เราต้องรับมือกับอีกฝ่ายที่มีอำนาจเหนือเรา เหมือนเราคุยกับเจ้านาย เราหนีไม่ได้ สู้กลับก็ไม่ได้ เราก็จะอยู่เฉยๆ หรือมีคำพูดเต็มไปหมด แต่มันอัดแน่นอยู่ข้างใน ปัทว่ามันคล้ายความโกรธ ความเศร้า ที่มันมีอารมณ์อยู่มากมายเต็มไปหมด แต่มันอยู่ข้างในแล้วก็วนอยู่ ออกมาไม่ได้

            “ภาวะฟรีซมันจะเก็บอยู่ในตัวเรา ซึ่งนำไปสู่ Trauma หรือบาดแผลในจิตใจ ในมุมหนึ่งก็คือ Muscle Memory ซึ่งเก็บอยู่ในร่างกายก็จะนำไปสู่ Panic หรือ Anxiety ที่เป็นการตอบสนองในรูปแบบของร่างกาย รวมถึงสภาวะซึมเศร้า ซึ่งแสดงว่าอาจจะเกิดภาวะฟรีซก็คือมีอารมณ์ความรู้สึกที่ยังไม่ถูกจัดการหรือยังถูกเก็บอยู่ พอถึงจุดหนึ่งเราจะถูกกระตุ้น การกระตุ้นบ่อยๆ ทำให้เกิดเป็นภาวะทางความรู้สึก อารมณ์ หรืออาจจะเป็นโรคทางอารมณ์หรือมีภาวะซึมเศร้าบางอย่างเกิดขึ้นได้ การทำงานในรูปแบบนี้ก็คือเราต้องดูแลอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองที่ถูกแช่แข็งอยู่ในนั้น

      “การรับมือกับภาวะนี้ต้องอาศัยพลังและการจัดการค่อนข้างเยอะ ปัทว่าคำหนึ่งที่ทำงานเยอะและสำคัญกับเราคือคำว่า Boundary การจัดการกับขอบเขตของเรา เพราะว่าหลายๆ ครั้งเราเองก็จะเกรงใจที่จะมีขอบเขตกับความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับเรา หรือแม้กระทั่งบางครั้งมันไม่มีความหมายเท่าไหร่ หรือบางครั้งมันไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น แต่ทำไมฉันถึงไม่กล้าที่จะปฏิเสธ พฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้มากๆ

      “ทีนี้ก็ต้องกลับมาทำความเข้าใจว่าเรามีสิทธิ์สร้างขอบเขตนี้เพื่อการดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้ตัวเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าทำไมเราไม่รักตัวเองมากกว่านี้ หรืออาจจะไปคำที่รู้สึกว่า เกลียดตัวเองจังเลย ทำไมเราน่าจะทำสิ่งนี้เพื่อดูแลตัวเองมากกว่านี้”

 

 

Free Writing อีกหนึ่งวิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างไดอะล็อกกับตัวเอง

      “การเขียนหรือการทำ Journaling เป็นอีกกิจกรรมที่ช่วยให้เรามีไดอะล็อกกับตัวเอง เราอาจจะเริ่มจากการทำ Free Writing แบบที่สื่อสารอารมณ์ความรู้สึกแบบที่เรารู้สึกว่า เอ๊ะ ช่วงนี้มันมีคำนี้ปรากฏขึ้นมาในความรู้สึกเรา มันมีพื้นที่ของ Shadow เกิดขึ้นมา อาจจะลองจดบันทึกให้พื้นที่ของ Shadow ได้คุยกับเรา ได้สื่อสารออกมา

      “ปัทเชื่อว่าทุกคนเชื่อมโยงกับ Shadow ของตัวเองไม่เหมือนกัน บางคนเห็นเป็นเงาตามคำแปลเลย ถ้าเป็นเงาแล้วสีเป็นอย่างไร เป็นเราอีกคนที่ค่อยชัดเจนหรือเปล่า หรือว่ามีคำศัพท์ทางอารมณ์บางอย่างชัดเจนขึ้น สำหรับบางคน Shadow อาจเป็นความเศร้า ความกลัว ความกังวล ความเครียด การตัดสินตัวเอง หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยบางอย่าง แต่สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องของพื้นที่

      “การให้ความหมายหรือสิ่งที่เราเชื่อมโยงไม่มีอะไรผิดหรือถูก ลองให้การเขียนเปิดโอกาสให้พื้นที่นี้คุยกับเรา ได้ทำความรู้จักกันและกันมากขึ้น แล้วเราสามารถจะเอาสิ่งที่เราเขียน เอาข้อมูลเหล่านั้นไปหาผู้ที่มีวิชาชีพในการพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเราในการตั้งคำถามหรือทำความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ดีขึ้น

     “ถ้าช่วงหนึ่งเรารู้สึกว่าสมดุลเราเปลี่ยนไป อย่างเช่นร่างกายเริ่มส่งสัญญาณบางอย่างบอก ไม่ว่าจะเป็นช่วงนี้คิดเยอะจัง ตัดสินตัวเองบ่อยจัง นอนไม่ค่อยหลับ หรือว่ากินเยอะหรือไม่ก็ไม่อยากอาหาร พวกนี้น่าจะเป็นสัญญาณบางอย่างที่เราอาจจะลองสังเกตตัวเองดูในชีวิตประจำวันได้ว่ามีอะไรบ้างไหมที่ต่างไปจากเดิม และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเริ่มส่งผลต่อชีวิตประจำวันอย่างไรบ้างหรือเปล่า อย่างเช่นเมื่อก่อนเราโอเคกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนเข้าสังคม แต่ช่วงนี้เราเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองที่จะออกไปคอนเน็กกับใคร

      “อะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ปัทว่ามันเป็นเหมือนสัญญาณบางอย่างที่เราต้องกลับมาทบทวนแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราช่วงที่ผ่านมาหรือช่วงนี้ ซึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้เราทบทวนตัวเอง ปัทแนะนำการเขียนเสมอ การเขียนใช้ได้ทุกเมื่อ เพราะต่อให้เรามีเพื่อนสนิทหรือใครสักคนที่เราไว้ใจ แต่จังหวะที่จะคุยกันได้อาจไม่ตรงกัน การเขียนก็ช่วยให้เราพูดคุยกับตัวเองได้ทุกเมื่อในช่วงเวลาที่เราต้องการมีไดอะล็อกกับตัวเองได้ทันที

      “จะเขียนก็ได้ วาดรูปก็ได้ วาดรูปอาจจะเป็นปากกาสักแท่ง วาดรูปลายเส้นแสดงอารมณ์ความรู้สึกของเราออกมา ให้มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เราสามารถจะกลับมาเชื่อมโยงกับตัวเองได้ทุกเมื่อ แล้วปัทมองว่าไม่จำเป็นต้องกลับไปอ่านก็ได้ถ้าวันนี้เราได้ปลดปล่อยอารมณ์แล้ว เราจะเขียนอย่างไรก็ได้ เพราะไม่ได้คาดหวังให้ใครมาอ่าน เป็นพื้นที่ของเราเอง

      “ปัทว่าจริงๆ การเขียนอย่างสม่ำเสมอมันมีเวทมนตร์บางอย่างนะ อย่างงานวิจัยในเรื่อง Expressive Writing จะบอกว่าควรเขียนต่อเนื่อง ยาวเกิน 15 นาที เวลาหลายๆ ท่านจะเขียน จะแนะนำให้ตั้งนาฬิกาเลย 20 นาที แล้วยุคนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนด้วยปากกาหรือดินสอเสมอไป จะพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ก็ได้ ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่ข้อต่างคือถ้าเราเขียนด้วยปากกาหรือดินสอ เราจะวาดหรือขีดเขียนเส้นเพิ่มก็ทำได้

      “เวลาเขียน จะเขียนซ้ำๆ หรือเขียนเป็นคำๆ กระโดดไปตรงนั้นทีตรงนี้ทีก็ได้ ไม่เป็นไร เอาอารมณ์ความรู้สึกออกมา แล้วพอถึงจุดหนึ่งจะเรียกว่าเป็น Free Association คือเราหยุดที่จะคิดว่าต้องเขียนอะไร มันจะเป็นความรู้สึก เป็นสตอรี่บางอย่าง เป็นไดอะล็อกภายในที่ปรากฏขึ้นมา ซึ่งนำไปสู่การเชื่อมโยง การจัดการ การตั้งคำถาม และความรู้สึกของเรามีการเปลี่ยนผ่านในกระบวนการเขียน

      “อย่างตัวปัทเองก็ใช้วิธีนี้ในการดูแลตัวเองช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะพอทำงานศิลปะบำบัดแล้วเราจะไม่ค่อยวาดรูปเพื่อตัวเอง เพราะว่าศิลปะเหมือนเป็นงานของเรา เราเองก็อยากจะมีช่วงเวลาที่ได้พักจากเครื่องมือนี้ก็เลยมาใช้การเขียน แล้วก็รู้สึกว่ามันช่วยได้

      “ตอนปัทคลอดลูกใหม่ๆ ปัทเองไม่ถึงกับเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่มีภาวะ Baby Blue เคยตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่างเปล่า ไม่มีการเชื่อมโยงใดๆ เลยแม้กระทั่งกับลูกตัวเอง แล้วก็รู้สึกเหนื่อย ไม่รู้สึกเลยว่ามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร มันเป็นความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามาในช่วงเวลานั้น ก็เลยใช้การเขียนกับการทำ Art Journal เล็ก เรารู้สึกว่างเปล่าก็เลยวาดความว่างเปล่าออกมา แล้วก็เขียน Journal พอใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วย มันจะมีช่วงหนึ่งที่อารมณ์เรามันมีการเปลี่ยนไปสู่ความหวังเล็กๆ ก็เลยพาตัวเองไปนอน เพราะว่าช่วงนั้นนอนไม่ค่อยหลับจากความกังวลหลายๆ เรื่องหลังคลอดลูก ปัทก็เลยรู้สึกว่าเครื่องมือเหล่านี้มีประโยชน์มาก

     “แต่สำหรับคนที่มีสภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สิ่งแรกที่สำคัญก็คือปรึกษาผู้ดูแลทางวิชาชีพอย่างพบจิตแพทย์ และอาจจจะต้องทานยาด้วยในช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นถ้ามองในมุมศิลปะบำบัด ปัทว่ามันช่วยได้นะ เพราะตัวศิลปะเองช่วยให้มีบางอย่างที่จับต้องได้สำหรับเขา เพราะความว่างเปล่าที่เกิดขึ้นในใจมันจับต้องไม่ได้ เราสามารถมาทำงานด้วยกันในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยใหม่ให้กับเขา ให้เขารู้สึกว่ามันโอเคที่ความรู้สึกของเขาจะได้รับการปลดปล่อยออกมา เสียงของเขาถูกได้ยิน อยากให้เขาขอความช่วยเหลือ อย่าเก็บไว้ อย่าแบกทุกๆ บทบาทหรือทุกๆ ความกังวล

      “เพราะนอกเหนือจากเรื่องฮอร์โมนแล้ว บางทีคุณแม่หลังคลอดอาจจะมีความกังวลหลายๆ เรื่อง ทั้งบทบาทใหม่ของการเป็นแม่ที่ต้องปรับตัวในเวลาอันสั้น ความคาดหวัง หรือในยุคสมัยนี้ก็จะกังวลเรื่องน้ำนมกันเยอะ การที่คุณหมอช่วยปรับฮอร์โมนก็ช่วยได้มากๆ ช่วยให้มีพลังมากขึ้น แล้วเรามาจัดการกับความกังวลอื่นๆ ในรูปแบบของศิลปะกัน มันควรจะช่วยไปด้วยกัน ทั้งการพบแพทย์ ทานยา และทำกิจกรรมบางอย่างที่ช่วยให้เขาได้กลับมาเชื่อมโยงกับตัวเอง

      “แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความรู้สึก หรือภาวะไหน ถ้าเราสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยภายในใจเราเองได้ มันจะเป็นเรื่องดีและสำคัญมาก เพราะพื้นที่ปลอดภัยควรเกิดขึ้นจากข้างใน เกิดขึ้นจากร่างกายเราก่อน อย่างแรกเรารู้สึกปลอดภัยในร่างกาย เราอาจจะมองว่าร่างกายใช้ชีวิต กินอิ่มนอนหลับ สมดุล เรารู้สึกแข็งแรง สบายๆ กับตัวเอง รู้สึกว่าเราได้ใช้ศักยภาพที่เรามีในการทำสิ่งต่างๆ ในทุกๆ บทบาท เราสร้างสมดุลได้ เราใช้ชีวิตกับตัวเอง มีมุมมองที่สมดุล

     “ปัทว่านั่นคือพื้นที่ปลอดภัยในใจเราค่ะ”

 

 
Back To Top