เรื่องโดย แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร, อริสา สุมามาลย์
ภาพประกอบโดย จิดาภา ทัศคร
“เมื่อคฤหัสถ์เจ็บไข้ ไปเยี่ยมให้สติ”
เป็นหนึ่งในข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาล เป็นพุทธพจน์ที่บ่งบอกถึงหน้าที่ทางสังคมของพระสงฆ์ในการช่วยเหลือผู้อื่น การเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติที่กำลังเผชิญความทุกข์เป็นกิจอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ที่พึงปฏิบัติ
ปัจจุบัน มีกลุ่มพระสงฆ์ที่มุ่งทำหน้าที่ทางสังคมคือ “กลุ่มอาสาคิลานธรรม” ซึ่งเรียนในหลักสูตร
พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชีวิตและความตาย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเพื่อนสหธรรมิกที่รวมตัวกันมุ่งทำประโยชน์ด้านการฟื้นฟูและดูแลจิตใจผู้ป่วย สนใจช่วยเหลืองานเยียวยารักษาผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญสูงสุดของพระบรมศาสดาที่มุ่งเน้นการดับทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่มนุษย์และสังคม โดยย้อนไปในช่วงเริ่มต้น ท่านออกฝึกปฏิบัติงานกับผู้ป่วยระยะท้าย ณ โรงพยาบาลศิริราช วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์และเห็นความสำคัญในการฝึกฝนเรียนรู้องค์ความรู้และการปฏิบัติงานการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธอย่างถูกต้องครบถ้วน จึงเชิญรศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว และคณะ มาถวายความรู้การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ” เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและญาติผู้ป่วยเพื่อการเยียวยารักษาจิตใจ นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์เพียร์ซ -
ดร.เพริศพรรณ แดนศิลป์ อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล ที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา และคณะนักวิจัย ได้ศึกษาและถ่ายทอดเรื่องนี้เป็นงานวิจัย “การศึกษาประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงมิติภายในหลังการเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ และการติดตามผลการปฏิบัติงานของกลุ่มอาสาคิลานธรรมต่อผู้ป่วยระยะท้าย”
การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อการเยียวยารักษาจิตใจ
การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ หรือ Buddhist Counseling (BC) เป็นกระบวนการพาคนจากที่มืดไปสู่ที่สว่าง เป็นการพาคนหลงทางกลับบ้าน ก่อนที่นักจิตวิทยาการปรึกษาจะช่วยเหลือผู้อื่น เขาต้องมีประสบการณ์ตรงในการสังเกตความทุกข์ (มืด) ของตนเป็นที่แรก จึงจะรู้จักว่าสว่างเป็นอย่างไร BC จึงเป็นแผนที่ของการกลับมาศึกษาที่ตัวเอง เห็นทุกข์ เข้าใจทุกข์ที่ตนจนชำนาญ จึงสามารถเข้าใจและคลี่คลายทุกข์ผู้อื่น
“BC เป็นการผสานหลักพุทธศาสนากับศาสตร์จิตวิทยาการปรึกษา โดย รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 การดูแล รักษา และเยียวยาจิตใจผู้ป่วย เป็นกระบวนการทำงานระหว่างจิตใจของผู้ช่วยเหลือทางจิตใจ (Psychological helper) และผู้รับการช่วยเหลือ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ช่วยเหลือจะต้องสังเกต เข้าใจ ตระหนักรู้ในตนเอง รู้เท่าทันการทำงานของจิตใจตนเอง ก่อนที่จะไปช่วยเหลือเยียวยาจิตใจให้กับผู้อื่น ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของจิตตปัญญาศึกษาที่มุ่งพัฒนากระบวนการเรียนรู้สังเกตภายในตน” อาจารย์เพียร์ซกล่าว
“เมื่อพี่ได้มาทำงานที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งการก่อกำเนิดของจิตตปัญญาศึกษาช่วงวิกฤติการณ์การศึกษาในสังคมไทยและโลกล้วนให้ความสำคัญที่ตัววิชาจนหลงลืมตัวผู้เรียน นั่นคือความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จิตตปัญญาศึกษาถือกำเนิดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยนาโรปะ ซึ่ง เป็นความพยายามของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ที่จะนำความเข้าใจพระพุทธศาสนาเชื่อมเข้าสู่โลกตะวันตก จึงใช้คำว่า Contemplative Education ซึ่งหมายถึง การศึกษาด้วยสมาธิวิปัสสนา และใช้ภาษาไทยว่า จิตตปัญญาศึกษา เป็นการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้มนุษย์สามารถใช้ปัญญานำความรู้ในศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาช่วยเกื้อกูลสังคมและโลก เมื่อนึกถึงงานของนักจิตวิทยาการปรึกษา ถ้านักจิตวิทยาการปรึกษาสนใจแสวงหาความรู้มากมาย (knowledge) เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่หนทางการช่วยแก้ปัญหาให้กับเคส เขากำลังละเลยความสุขทุกข์ที่ปรากฏกับเขาต่อหน้าต่อตา และหลงลืมสนามการเรียนรู้ที่สำคัญคือ “การเรียนรู้ภายในตนเอง” (Knowing) ซึ่งเป็นหัวใจของจิตตปัญญาศึกษาและงาน BC ที่สอดคล้องและเกื้อกูลกัน”
“การได้มีโอกาสทำงานที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา จึงเป็นพื้นที่ช่วยให้พี่ได้ขบคิดและตกผลึกว่าความเข้าใจศาสตร์จิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธจะนำมาสร้างภูมิคุ้มกัน (ปัญญา) ให้ผู้เรียนในการดำเนินชีวิตและช่วงเผชิญกับความทุกข์อย่างไร? จึงเกิดเป็นรายวิชา ‘จิตตภาวนากับการเยียวยารักษาจิตใจ’ และคอร์สอบรมระยะสั้นชื่อ ‘ศิลปะแห่งการฟังด้วยสติ’ ที่นำแผนที่ BC ที่มีฐานความเข้าใจในอริยสัจ 4 พี่มองว่า ‘ความทุกข์เป็นสิ่งสากล’ ไม่ว่าผู้เรียนเราจะเป็นศาสนิกใด งานสำคัญคือ การพาให้ผู้เรียนรู้จักโครงสร้างการทำงานกับสุขทุกข์ การสังเกตและเท่าทันปฏิกิริยาในใจตนเอง ผู้เรียนจึงเป็นนักจิตวิทยาคนแรกให้กับตนเอง และเขาจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลคนอื่นต่อไป งาน BC โดยแก่นแล้ว จึงเป็นกระบวนการศึกษาภายในชีวิตของเคส เมื่อเขามีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อชีวิต ยอมรับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เห็นความคาดหวังที่เป็นกรงขังจิตใจเขาได้ นี่คือการศึกษาที่แท้ ที่มิติการพัฒนาและมิติการเยียวยาปรากฏในขณะเดียวกัน (transforming and healing) จึงเป็นที่มาความสนใจนำความเข้าใจดังกล่าวไปพัฒนาทั้งในกระบวนการเรียนการสอนและพัฒนาหัวข้อการวิจัยของผู้เรียน”
งานวิจัยที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงมิติภายใน
โครงการนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงมิติภายในของพระสงฆ์หลังการเข้าร่วมหลักสูตรการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ โดยมีผู้ให้ข้อมูลหลักคือพระสงฆ์ที่เข้าร่วมหลักสูตรจำนวน 12 รูป และผู้ให้ข้อมูลรอง 16 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) ญาติผู้ป่วย ที่สะท้อนภาพการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย จำนวน 11 คน (2) ผู้สอนและผู้นำกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร จำนวน 5 คน เก็บข้อมูลโดยการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจดบันทึก ระยะเวลาการอบรม 6 วัน
อาจารย์ยุ้ย – กวินฉัตระสิริ เมืองไทย ผู้ร่วมคณะวิจัยเล่าว่า “พระอาสาคิลานธรรมกรุณาแบ่งปันว่าในช่วงเริ่มต้นของการทำงานเยียวยาข้างเตียง หลายครั้งที่ท่านสังเกตเห็นภาวะจิตใจที่เป็นทุกข์ของตน โดยในงานวิจัย ได้พบประสบการณ์ของท่าน 4 ประเด็น คือ 1. ทรมานใจกับความทุกข์ของญาติโยม วางใจได้ยาก
2. รู้สึกบีบคั้น จมทุกข์ไปกับผู้ป่วย 3. กังวล ติดค้างใจ ไม่พอใจกับการปฏิบัติงานของตัวเอง 4. ขาดความเชื่อมั่น แม้จะได้เรียนเรื่องชีวิตและความตายมาแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าไม่ได้จบด้านการปรึกษาโดยตรง จึงไม่มั่นใจ”
“กระบวนการ BC เปิดโอกาสให้ท่านได้เห็นต้นตอของความทุกข์ คือความปรารถนาหรือคาดหวังที่มากกว่าความเป็นจริง กระบวนการทำความเข้าใจต้นตอของความทุกข์และการคลี่คลายความทุกข์อยู่ในรูปแบบของการสนทนาที่ค่อย ๆ สืบค้น พาผู้เรียนได้สังเกตพิจารณา โดยการเรียนรู้เป็นลักษณะการบรรยายแบบสนทนาใคร่ครวญ (contemplative dialogue) และการฝึกในกลุ่มย่อย (group counseling and practice) ซึ่งเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนแบ่งปันเรื่องราวที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการฝึกฝนคลี่คลายความทุกข์ สมาชิกในกลุ่มจึงมีโอกาสเรียนรู้ชีวิตของกันและกัน” อาจารย์เพียร์ซขยายความ
แผนที่อริยสัจ 4 คือความเข้าใจในการรักษาโรคทางใจ ที่ผู้ช่วยเหลือพาผู้รับความช่วยเหลือออกจากทุกข์ได้ กระบวนการของ BC เปรียบเสมือนมีดที่ใช้รักษา อาศัยแผนที่ในการรักษาจิตใจในรูปของ TIR Model ความเข้าใจชีวิตตามจริงจะช่วยให้ผู้รักษาช่วยรักษาโรคได้ตรงและหาย การฝึกฝน TIR จึงเหมือนการทำความรู้จักการใช้มีด การลับคมให้มีดมีประสิทธิภาพ ได้แก่
Tuning in คือ รับรู้และเชื่อมกับปรากฏการณ์จิตใจของคนตรงหน้า
Identifying split คือ นำพาให้เขาเห็นรอยแยกระหว่างความคาดหวังกับความจริง ให้เห็นว่าความทุกข์มาจากความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความจริง
Realization คือ สลายความคาดหวังนั้นและกลับมาอยู่กับชีวิตตามจริง
สำหรับผลการวิจัยที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงมิติภายใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
เข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต จากเดิมที่ท่านเข้าใจพุทธรรมที่อยู่ในตัวหนังสือซึ่งเป็นเนื้อหาสาระในพุทธศาสนา ก็เคลื่อนสู่พุทธธรรมที่อยู่ในใจ คือ สังเกตเห็นความจริงและเข้าใจความจริงผ่านประสบการณ์ตรง (Direct experience) และทำให้เชื่อมกับคนตรงหน้าได้ เช่น จากเดิมที่หากพระท่านทุกข์ กลัว หรือกังวล จะเกิดการ disconnect หรือตัดขาดกับเคส แต่เมื่อจัดการกับใจของตัวเองได้ ท่านสามารถหยิบยกอาการความปวดของเคส เชื่อมกับประสบการณ์จากการฝึกกรรมฐานและวัตรปฏิบัติของท่าน สู่การเชื่อมกับใจของเคสได้ ทำให้รู้สึกเบาลงและเห็นว่าความไม่สบายนี้เป็นความทุกข์กายอย่างเดียว ไม่ต้องทุกข์ใจไปด้วย
เป็นการทำงานกับโลกภายใน ทำให้เกิดความเข้าใจชีวิตที่ถูกต้อง เห็นถึงคุณค่าของงานช่วยเหลือเยียวยา ทำให้เป็นพระได้เต็มภาคภูมิอย่างแท้จริง เป็นการเติบโตภายในจากความทุกข์ เช่น จากเดิมเป็นทุกข์ที่ช่วยญาติโยมไม่ได้ เปลี่ยนไปสู่การไม่รังเกียจทุกข์ ต้อนรับตัวเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง
เกิดภาวะจิตใจที่งอกงามเป็นกุศลและคุณภาพจิตใจที่พัฒนาขึ้น สงบอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มาเร้าอารมณ์ได้
การเปลี่ยนแปลงภายในของพระสงฆ์ เกิดจากปัจจัยภายนอก คือ ผู้สอนในฐานะกัลยาณมิตรและกระบวนการสอนที่เอื้อให้ผู้เรียนประสบตรงในหลักอริยสัจ 4 และการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ และปัจจัยภายใน คือ กระบวนการโยนิโสมนสิการในผู้เรียนและต้นทุนในวิถีของพระสงฆ์ ความเปลี่ยนแปลงนี้มีความเข้มเพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติงานในระยะติดตามผล และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปฏิบัติตนและปฏิบัติงานของพระสงฆ์ กระบวนการทำงาน และผลการปฏิบัติงานเยียวยาจิตใจต่อผู้ป่วยและครอบครัว และต่อบุคคลกลุ่มอื่น ๆ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ความเติบโตของผู้วิจัยผ่านการทำงานวิจัย
การทำงานวิจัยเชิงปรากฏการณ์วิทยา อาจารย์เพียร์ซบอกว่า “ในฐานะนักวิจัย ไม่ได้ฟังแค่ข้อมูล แต่ต้องสัมผัสและเดินทางร่วมไปกับพระท่านโดยวางประสบการณ์เดิมของเราลงด้วย จึงเป็นพื้นที่ที่เราได้กลับมาพบความสดใหม่ของจิตใจ เป็นบุญที่ได้มีโอกาสอยู่ในเส้นทางชีวิตของผู้ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ การดำรงอยู่ของพระคุณเจ้าและความกรุณาในงานเยียวยาจิตใจ เป็นตัวยาที่ไม่เพียงช่วยเหลือผู้ป่วย ในฐานะผู้ที่ร่วมวิจัย ชีวิตได้เกิดความมั่นคงศรัทธากับการงาน พี่นึกสมัยเรียน ป.โทเมื่อ 25 ปีที่แล้ว การนำหลักพุทธศาสนาให้เชื่อมสู่ชีวิตในงานจิตวิทยาถูกมองว่าไม่เกี่ยวกับวิชาการ แต่เวลาผ่านไปเห็นว่าไม่ว่างานนี้จะยาก ก็ช่วยพาเราหนักแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ได้เห็นความตั้งใจสร้างพื้นที่เพื่อนำแก่นพุทธศาสนากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา อุปสรรคกลับเป็นเครื่องช่วยให้เชื่อมั่นศรัทธาในแผนที่อริยสัจ 4 และสัมผัสพระธรรมคำสอนที่มีชีวิตผ่านการเรียนรู้ความทุกข์ที่ตัวเราและผู้คน เมื่อไหร่เราคาดหวังอยากให้คนเข้าใจเราและงานของเรา เราก็เจอทุกข์เล่นงานทันที เป็นหน้าที่ให้หมั่นสังเกต ต้อนรับความผิดหวัง ไม่ได้ดั่งใจ ฝึกจัดใจให้เข้ากับความจริง ไม่ใช่จัดความจริงให้เป็นไปตามใจเรา นั่นคืองานสำคัญที่ต้องฝึกวันแล้ววันเล่า”
อาจารย์เพียร์ซเล่าถึงการเติบโตที่เห็นได้ชัดคือ “การทำงานเป็นพื้นที่ขัดเกลาตัวตนของเราอย่างมาก สมัยเรียน อาจารย์โสรีช์มักใช้คำว่า ‘นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องรู้จักทิ้งตนเอง’ ที่เรา ‘ทิ้งตนเองได้ยาก’ ก็เพราะเราเชื่อหนักหนาว่าตัวเราสำคัญ พี่มองว่ากระบวนการในการทำงานเยียวยาเป็นเครื่องมือภาวนาชั้นดี ได้ฝึกสังเกต ได้เห็น ‘ตัวเรามันเรียกร้องความสำคัญ’ มีเหตุการณ์ประทับใจครั้งหนึ่งที่เราช่วยเหลือผ่าตัดจิตใจเคสได้ลุล่วง ใจก็เติมเต็ม ถัดมาพบว่าเคสที่เราภูมิใจหนักหนากลับจำชื่อเราไม่ได้เสียด้วยซ้ำ!!! เป็นตัวอย่างที่พาให้เราตื่นมาต้อนรับความจริง พบว่า”เมื่อเรายึดถือว่าเราสำคัญ มันพาเราขึ้นสวรรค์และฉุดลงนรกได้ทันที นอกจากนี้ หากเปรียบงานเยียวยาจิตใจเหมือนการเดินทางไปเคียงข้างกันกับเคส พี่ได้กลับมารู้จักจิตใจผ่านการทำงาน มันพาเราสังเกตว่า ขณะทำงานเราเดินกับคนตรงหน้า (เคส) แบบไหน เดินตามใจตัวเอง เดินตามความเชื่อของเราว่ามันดี หรือเดินตามไม่ทัน ทุกก้าวในงานเป็นสัญญาณเตือนให้รู้สึกตัว เคสถือเป็นตัวช่วยฝึกภาวนาให้เรากลับมาจดจ่อกับเขา และการหมั่นฝึกฝนจะค่อยๆ ขยายไปยังคนตรงหน้าในชีวิตของเราด้วย”
และอาจารย์ยุ้ยเพิ่มเติมว่า “งานนี้ทำให้ตัวเราเองกลับมาสงบกับความเป็นจริงของชีวิต กลับมามีท่าทีที่ถูกต้องกับชีวิต เข้าใจชีวิตมากขึ้น ต้อนรับตัวเราในแบบที่เราเป็น เห็นคุณค่าแบบไม่ตัดสิน เห็นความบีบคั้นที่มีต่อใจของตัวเอง เห็นความยื้อยุดในใจ เป็นหนทางที่อยู่กับความทุกข์และชำระความเปื้อนในใจเราได้มากขึ้น ๆ ชีวิตก็เบาลง ใจเราก็สงบขึ้น สว่างขึ้น สะอาดขึ้น ซึ่งเป็นรางวัลของการทำงานบนเส้นทางแห่งการพัฒนาภายในไปพร้อมกัน”
เห็นทุกข์ เข้าใจทุกข์ จึงคลี่คลายทุกข์
สำหรับผลลัพธ์หรือความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะพระสงฆ์และผู้วิจัยเท่านั้น แต่ขยายไปถึงญาติหรือครอบครัวของผู้ป่วยด้วย
“ความเข้าใจของพระท่านเป็นเหมือนยาขนานเอก ท่านใช้ปัญญาในการดึงเสี้ยนแห่งความทุกข์ออก ช่วยให้เขาเกิดความเข้าใจใหม่ รู้ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไป มองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง มองความสูญเสียด้วยความมั่นคง น้อมรับความจริง ทุกคนมีสติปัญญาผ่านการสูญเสียทั้งนั้นเลย” อาจารย์เพียร์ซเล่า
อาจารย์ยุ้ยเสริมว่า “สำหรับญาติหรือครอบครัวเป็นอารมณ์ที่เข้มข้นมากเพราะเขาสูญเสีย ท่านฉายไฟแห่งสติเข้าไป ทำให้ญาติโยมเกิดปัญญา คำที่ญาติใช้คือ ‘พระมาโปรด’ คำนี้เลย โปรดให้ใจที่อยู่ในห้วงแห่งความทุกข์แสนสาหัสได้ยกขึ้นมา เหมือนเป็นบุญที่ได้พบท่าน ท่านเป็นแสงสว่าง ท่านสมกับเป็นพระภิกษุสงฆ์ของพระพุทธเจ้า ครอบครัวได้คลี่คลายความทุกข์และส่งผู้ป่วยไปอย่างสงบ ฉากสุดท้ายของชีวิตเป็นเรื่องยากที่จะคลายใจได้ บางครั้งท่านช่วยคลี่คลายปรับความเข้าใจในครอบครัว ชวนให้บอกกล่าว ขอขมา หรือขอบคุณสิ่งที่ได้ทำให้แก่กันมา เป็นการจากลาที่หมดจด รวมใจคนในครอบครัวให้เป็นกุศล”
กลุ่มพระอาสาคิลานธรรมได้ผ่านกระบวนการ BC ได้สังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเอง จนเรียนรู้ในปรากฏการณ์ของความทุกข์ เหตุของความทุกข์ และกระบวนการการคลี่คลายความทุกข์นั้น และฝึกฝนโดยอาศัยกระบวนการกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธในการทำงานกับความทุกข์ จนท่านเกิดความเข้าใจในแผนที่ของการทำงานเยียวยาจิตใจ เข้าใจโลกและชีวิต ส่งผลให้ทำหน้าที่พระสงฆ์ให้เกิดประโยชน์ได้กว้างขวางขึ้น นั่นคือ การพาให้ผู้ป่วยและญาติพบความจริงของชีวิต มีท่าทีใหม่ที่สงบกับความเจ็บป่วย ต้อนรับการพลัดพรากได้อย่างมั่นคงและเข้าใจ การช่วยเหลือผู้คนนี้เอง ยิ่งพาให้ท่านได้เป็นพระสงฆ์อย่างเต็มสมบูรณ์โดยแท้ สามารถนำพุทธธรรมไปสู่ชีวิตจริงของผู้คนได้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้เห็นว่าพระสงฆ์ที่เข้าใจงานเยียวยาจิตใจเป็นภาพสะท้อนของ ‘ธรรม’ อันรักษาผู้คนและสังคม
อ่านบทความวิจัยเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงมิติภายในของพระสงฆ์กลุ่มอาสาคิลานธรรมภายหลังเข้าร่วมหลักสูตร การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธและในระยะติดตามผลการปฏิบัติงานต่อผู้ป่วยระยะท้าย” ได้ที่
https://so02.tci-thaijo.org/index.php/EDKKUJ/article/view/240780/163766