เรื่องโดย แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร, อริสา สุมามาลย์
ภาพประกอบโดย จิดาภา ทัศคร
แทงโก้อาร์เจนติน่า ( Argentine tango)...การเต้นรำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เข้มแข็งสลับนุ่มหวาน คนหนึ่งเป็นผู้นำ อีกคนเป็นผู้ตาม การเคลื่อนไหวอันทรงพลังเปลี่ยนเป็นความสงบนิ่งในฉับพลัน ท่วงท่าแนบแน่น เร่าร้อน หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวของคู่เต้นชวนให้หลงใหล ได้การยอมรับจากทั่วโลกจนองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ.2552 และวันนี้ มีอีกมิติที่ส่ง “แทงโก้อาร์เจนติน่า” สู่งานวิจัยที่เข้าถึงความจริงของชีวิต
ความรัก ความฝัน Passion...จุดตั้งต้นของงานวิจัย
เมื่ออาจารย์กิ๊ฟ – นันธนันท์ โพธิ์รักษาเจริญ ครูสอนเต้นแทงโก้อาร์เจนติน่าได้ก้าวมาเป็นนักศึกษาปริญญาโท ที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ได้พบสิ่งที่ชอบและได้คำตอบสำคัญของชีวิต ว่าต้องการเป็นกระบวนกรหรือคนจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณค่าความหมายกับชีวิตของผู้เรียน อาจารย์กิ๊ฟจึงผนวกเอาสองสิ่งที่รักมาเป็นจุดตั้งต้นของงานวิจัย
“เป็นความฝันที่อยากให้การใช้ชีวิตของเราเป็นไปด้วยความรักในงานที่ทำและมีความสุข จึงเอาสองอย่างที่เรารักมารวมกัน นั่นคือแทงโก้อาร์เจนติน่าและจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งก่อนเข้ามาเรียนจิตตปัญญาศึกษา เราเป็นครูสอนเต้นแทงโก้อาร์เจนติน่าอยู่ก่อนแล้ว เสน่ห์ที่ทำให้หลงใหลแทงโก้อาร์เจนติน่า คือ Improvisation หรือการด้นสด ไม่ได้มีการเตรียมการไว้ก่อน ไม่มีแบบแผนตายตัวในการเต้น เป็นการสื่อสารกันผ่านร่างกาย สำหรับเรา แทงโก้เป็นภาษาหนึ่งที่ทุกคนที่มีร่างกายเข้าถึงได้และซื่อตรงมาก เพราะร่างกายไม่เคยโกหก”
“ในตอนแรก สองอย่างนี้เหมือนจะไปกันไม่ได้ เพราะเรายังมองแบบแยกส่วน แต่ต่อมาก็เห็นจุดร่วม นั่นคือการเป็นหนทางที่มีอานุภาพมากในการทำให้ผู้เรียนได้รู้จักตัวเอง หัวใจสำคัญของจิตตปัญญาศึกษา คือ การเรียนรู้ที่ empower คนเรียน คือสร้างอำนาจภายในให้ผู้เรียนเห็นศักยภาพของตัวเอง สร้างความตระหนักรู้ในตัวผู้เรียนผ่านวิธีการหลากหลาย เช่น การฟังอย่างลึกซึ้ง การกลับมาอยู่กับลมหายใจ การฝึกปฏิบัติภาวนาอย่างง่าย ๆ”
จากประสบการณ์บนเส้นทางการเต้นแทงโก้มาอย่างต่อเนื่องหลายปีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้อาจารย์กิ๊ฟสังเกตเห็นว่าการเรียนการสอนในปัจจุบัน เน้นหนักไปที่เทคนิคและท่าทางการเต้น ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้ไปในแนวทางเดียวกับหัวใจหลักของแทงโก้อาร์เจนตินาที่ผู้เต้นต้องสื่อสารและรับฟังกันและกันผ่านร่างกาย การมีสติรู้ตัว อยู่กับคนตรงหน้าในปัจจุบันขณะจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับไม่ได้รับการพูดถึงหรือชี้ให้เห็น เหตุการณ์ “สงครามกลางฟลอร์” จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น เต้นไปคนละทิศละทาง ต่างคนต่างสนใจเฉพาะท่าเต้นของตัวเองโดยไม่ให้ความใส่ใจกับคู่เต้น ยื้อยุดกันระหว่างผู้นำและผู้ตาม จึงกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเข้าถึง หรือต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าถึงหัวใจหลักของการเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาได้
งานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้แทงโก้อาร์เจนติน่า
“การวิจัยและพัฒนากระบวนการเรียนรู้การเต้นแทงโก้อาร์เจนติน่าตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา” คือชื่องานวิจัยของอาจารย์กิ๊ฟ ซึ่งใช้วิธีการดำเนินการวิจัยแบบวิจัยและพัฒนา (Research and Development – R&D) โดยควบรวมการเรียนรู้การเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาเข้ากับการเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการตระหนักรู้ในตัวเอง เปิดรับความหลากหลาย และสามารถเชื่อมโยงพัฒนาสู่วิถีชีวิตได้ งานวิจัยนี้มีเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นรูปแบบ วิธีการ หรือกระบวนการ และทดลองใช้จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แล้วจึงเผยแพร่เพื่อพัฒนากระบวนการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“สิ่งที่พบคือการเต้นแทงโก้อาร์เจนติน่าและการเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษามีหัวใจสำคัญเดียวกัน คือเป็นการเรียนรู้ที่นำพาให้ผู้เรียนตระหนักรู้ในตัวเอง ซึ่งแกนหลักคือการภาวนาหรือการเจริญสติและการฟังอย่างลึกซึ้งผ่านการเคลื่อนไหว การเต้นเป็นการฝึกสติดี ๆ นี่เอง เพราะต้องอยู่กับคนตรงหน้าในปัจจุบันขณะเท่านั้น เสียงต่าง ๆ ในหัวขณะเต้น ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชอบ ไม่แน่ใจ จะทำให้เราหลุดจากคู่เต้น จึงบอกว่าการเต้นเป็นวิธีภาวนาอย่างหนึ่งที่ทำให้ค่อย ๆ ละวางตัวตน ค่อย ๆ ลอกตัวตนออก”
อาจารย์กิ๊ฟเล่าว่าในงานวิจัยชิ้นนี้ มีผู้เข้าร่วมเรียนรู้จำนวน 9 คน จัดกระบวนการ 8 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง ในกระบวนการแต่ละครั้ง แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ซึ่งใช้วิธีการเรียนรู้สำคัญตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาแทรกลงในทุกช่วง คือ 1. การเตรียมผู้เรียนแต่ละคนให้อบอุ่นร่างกายผ่านการยืดเหยียดประสานกับลมหายใจเข้า-ออก ฝึกการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวผ่านการยืน ถ่ายน้ำหนัก และเดิน เพราะการเจริญสติทำให้สามารถอยู่กับกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เห็นความคิด เท่าทัน และตระหนักรู้ในตัวเองซึ่งจะนำไปสู่การรู้จักตัวเองเพื่อที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น 2. ฝึกเต้นเป็นคู่ทั้งบทบาทผู้นำและผู้ตาม สร้างพื้นที่ปลอดภัย ด้วยการเปิดกว้างยอมรับความแตกต่าง ใช้ภาษากายสื่อสารกัน ฝึกฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้งด้วยประสาทสัมผัสทางกายผ่านการนำและการตามโดยมีท่าพื้นฐานในการเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาเป็นแบบฝึกฝน 3. สรุปบทเรียนทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว ใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง ถอดบทเรียนร่วมกัน ช่วงท้ายของการจัดกระบวนเรียนรู้แต่ละครั้งจะให้ผู้เรียนได้ใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งและสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านการเขียนบรรยายและแบ่งปันประสบการณ์กับกลุ่มผู้เรียนด้วยกันโดยใช้การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นรากฐานสำคัญ
สำหรับการเก็บข้อมูลนั้น มีทั้งการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมก่อนทำกระบวนการ, ระหว่างกระบวนการ, หลังเสร็จสิ้นกระบวนการในแต่ละครั้ง และหลังเสร็จสิ้นกระบวนทั้งหมด หลังจากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) จากบันทึกการสัมภาษณ์ บันทึกการสังเกต ถอดเทปบันทึกภาพและเสียงเพื่อสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมโดยละเอียด
เต้นแทงโก้ เห็นชีวิต
งานวิจัยนี้ไม่ใช่การนำจิตตปัญญาศึกษามาเสริมประสิทธิภาพให้เต้นแทงโก้อาร์เจนติน่าได้สวยงามมากขึ้น แต่มุ่งนำจิตตปัญญาศึกษามาพัฒนากระบวนการเรียนรู้การเต้นแทงโก้เพื่อการเรียนรู้และเติบโตด้านในของผู้เรียนเป็นสำคัญ
เมื่อประมวลและสรุปผลการวิจัยจากการนำกระบวนการเรียนรู้ไปใช้จริง อาจารย์กิ๊ฟพบว่าผู้เรียนมีความเข้าใจ สามารถฟังอย่างลึกซึ้ง ตระหนักรู้ในตัวเองเพิ่มขึ้น เปิดรับความหลากหลาย นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตและพัฒนาตนเองได้ บรรลุเป้าตามวัตถุประสงค์อย่างสวยงาม เมื่อถามถึงผลที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ อาจารย์กิ๊ฟบอกว่าสำเร็จเกินความคาดหมาย
“สิ่งสำคัญที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้แบ่งปัน คือ เมื่อเรียนรู้แล้ว นำเอาประสบการณ์นี้ไปตกผลึกและเชื่อมโยงกับชีวิตของเขา ทำให้สามารถมองเห็นอะไรบางอย่างในบริบทของเขาเอง เช่น มีคนที่เป็นแม่และเป็นภรรยา เอาสิ่งนี้ไปเชื่อมโยงกับชีวิต ทำให้เขาเห็นตัวเองว่าเป็นแม่ในแบบผู้นำที่บังคับลูก เป็นผู้ตามในฐานะภรรยาแต่กลับรู้สึกสงสารสามีมาก”
“ผู้เรียนบางคนสะท้อนเรื่องการเท่าทันและปล่อยวางความคาดหวังของตัวเอง เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต และพร้อมเริ่มต้นใหม่แม้เกิดความผิดพลาดว่าไม่ว่าจะทำอะไรในชีวิตให้เราปล่อยวางและไม่ติดดี แล้วจะทำให้เราทำสิ่งนั้น ๆ ได้สนุกขึ้น สบายมากขึ้น”
“บางคนเกิด Body awareness รับรู้ได้ถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำท่ายากไม่ได้ ว่าไม่ได้เกิดจากขีดจำกัดของร่างกาย แต่เป็นเพราะข้างในไม่นิ่ง เมื่อสังเกตและภาวนาผ่านร่างกายก็เกิดความนิ่งและมั่นคง เมื่อผ่านกระบวนการที่ชวนให้กลับมาทบทวน เท่าทันสภาวะภายในก็ทำให้ตกผลึกได้ ซึ่งคนที่ตกผลึกได้เร็วก็จะไปได้เร็ว” อาจารย์กิ๊ฟเล่าถึงสิ่งที่ผู้เรียนแต่ละคนได้รับจากกระบวนการนี้และนำไปเชื่อมโยงปรับใช้ในชีวิต
เรียนรู้ เติบโต ผ่านงานวิจัย
ในขั้นตอนการนำสิ่งที่ได้จากการวิจัยมาเขียนสรุป อาจารย์กิ๊ฟได้รับรู้และมองเห็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกสิ่งหนึ่ง นั่นคือ Being หรือความเป็นตัวตนของกระบวนกร
“สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดกระบวนการเรียนรู้คือผู้สอนจะต้องฝึกฝนขัดเกลาตนเองไปสู่หนทางแห่งการหลอมรวมความรู้และประสบการณ์การเต้นแทงโก้อาร์เจนตินาตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต จังหวะที่เห็นเรื่องนี้ได้ชัดมากคือเหตุการณ์ในการจัดกระบวนการ มีครั้งหนึ่งผู้เรียนตามไม่ทัน ถ้าเป็นก่อนหน้านี้เราคือครูกิ๊ฟ...ครูสอนแทงโก้ที่ยังไม่ได้มาเรียนจิตตปัญญาศึกษา ครูกิ๊ฟคนนั้นไม่รอแน่นอน เพราะมุ่งไปที่การทำให้ครบตามแผนการสอนที่วางไว้ จะพลาดหรือเปลี่ยนไม่ได้ แต่เมื่อเราได้ฝึกฝน ขัดเกลาตัวเองตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ทำให้เห็นว่ากระบวนการเป็นปรากฏการณ์ แผนการสอนที่วางมาก็สามารถปรับเปลี่ยนได้เพราะเรากำลังทำเพื่อผู้เรียนไม่ใช่เพื่อตัวเอง ปรากฏว่าในครั้งนั้นเราก็รอเพื่อให้ผู้เรียนตามทัน ปรับแผนไปตามผู้เรียน ซึ่งนั่นเป็นจังหวะที่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเองอย่างชัดเจน”
“จนถึงทุกวันนี้ก็ได้กลับมาทำงานกับตัวเองเยอะขึ้น และยังคงทำงานอยู่เรื่อย ๆ ไม่มีจบ เริ่มไร้รูปแบบมากขึ้น มองภาพได้ชัดขึ้น วิเคราะห์และเข้าไปทำงานกับจุดที่ผู้เรียนติดขัดได้ดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างมาก ส่วนตัวมองว่าการภาวนาในรูปแบบหรือนั่งสมาธิเจริญสติเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ข้างในมั่นคงและเข้มแข็งขึ้น กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา จัดการชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีแรงไปต่อ”
งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เราเห็นว่าจิตตปัญญาศึกษาไม่แยกขาดจากชีวิต สามารถนำเอาวิธีการหรือแนวทางต่าง ๆ มาใช้ในชีวิตประจำวัน และเกิดผลดีอย่างคาดไม่ถึง อาจารย์กิ๊ฟเล่าถึงประสบการณ์ตรงในด้านความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวว่า
“หลังจากที่ได้เรียนรู้เรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ก็ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเอาไปใช้ในชีวิต เริ่มจากการใช้สื่อสารกับแม่ เพราะที่ผ่านมาเราไม่พร้อมเผชิญอารมณ์ด้านลบกับครอบครัวจึงหลีกเลี่ยง ไม่พูดกัน ไม่เผชิญหน้า แต่เมื่อรับฟังกันและกัน ทำให้ความสัมพันธ์กับแม่ดีขึ้นมาก ทำให้รู้ว่าแม่รักเราและอยากเข้าใจเรามาก ๆ ทำให้บ้านกลับมาเป็นสถานที่ ๆ เราอยากอยู่และสบายใจ”
เปิดมุมมองใหม่ แรงบันดาลใจแห่งชีวิต
อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์กิ๊ฟมองการเต้นตามความเป็นจริง คือ การได้เห็นคุณยายชาวอาร์เจนตินาวัย 90+ ใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวในการเดิน แต่เมื่อถึงฟลอร์แทงโก้ คุณยายกลับออกไปโชว์สเต็ปการเต้นได้อย่างพลิ้ว
“กำแพงอายุไม่มี เรียกว่าเต้นได้จนกว่าจะติดเตียง (หัวเราะ) เป็นการเต้นที่แก้ปัญหาหลายอย่าง ผู้สูงวัยได้ออกกำลัง ประสานระบบประสาทกับการเคลื่อนไหว และตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม ได้เจอเพื่อน เจอผู้คนใหม่ ๆ”
งานวิจัยนี้ยังช่วยเปิดมุมมองการเรียนรู้และเป็นแรงบันดาลใจให้คนในสังคมกลับมาดูแลตัวเองหรือหาวิธีดูแลตัวเองในรูปแบบใหม่ ๆ ใครจะไปคิดว่าการเต้นแทงโก้ที่ใช้พลังล้นปรี่ ทั้งเหวี่ยง หมุน เตะขา แค่มองยังแทบลืมหายใจนั้นเป็นวิถีภาวนารูปแบบหนึ่ง หรือ “เต้นลดอัตตา” แบบนี้ก็มีด้วย
“แทงโก้อาร์เจนตินาเป็นพื้นที่โหยหาสัมผัสของความเป็นมนุษย์ที่สื่อสารกันด้วยหัวใจผ่านภาษากาย หลอมรวมคู่เต้นทั้งสองให้เป็นหนึ่งเดียว เป็นสังคมที่ผสานการเคลื่อนไหวเข้ากับดนตรีและผู้คน อยากสร้างชุมชนแทงโก้ที่เฮลท์ตี้ทั้งกายและใจ เอาสิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้คนเห็น ไม่ใช่แค่เต้นสนุกแล้วจบไป แต่เป็นพื้นที่ที่คนมีความสุข รักที่จะพัฒนาด้านใน ช่วยเหลือกัน และขยายทำให้เป็นวิถีชีวิต” อาจารย์กิ๊ฟสรุปปิดท้ายด้วยภาพชุมชนแทงโก้ในฝันที่กำลังลงมือทำให้เป็นจริง
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ได้ที่
https://drive.google.com/file/d/1pX30i3iVg7eBVD_ju-Urq4ToSBo8MKKR/view?usp=sharing