การงานกับชีวิตด้านในของบุคลากรทางการแพทย์
เรื่องโดย: แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร, อริสา สุมามาลย์
ภาพประกอบโดย: จิดาภา ทัศคร
ท่ามกลางความก้าวหน้าทางการแพทย์และระบบพัฒนาโรงพยาบาลที่มุ่งสู่มาตรฐาน บุคลากรทางการแพทย์กลับห่างไกลจากสุขภาวะและหัวใจความเป็นมนุษย์
ประโยคข้างต้นเป็นประโยคแรกในบทคัดย่องานวิจัยของ พรพิศ ตรีบุพชาติสกุล อดีตอายุรแพทย์ที่ทำงานอย่างมุ่งมั่น จริงจัง รวดเร็ว ขี้วีน และค่อนข้าง ‘โหด’ กับเพื่อนร่วมงานอยู่ไม่น้อย
จากการสูญเสียบุคคลสำคัญในชีวิต การตั้งคำถามบางอย่างกับชีวิตและการคิดถึงความตาย ทำให้หมอพรพิศ เลือกที่จะพักจากการทำงาน ถอดและวางหมวกอายุรแพทย์ลงชั่วคราว แล้วใส่หมวกใบใหม่ เป็นนักศึกษาปริญญาโทที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และช่วงเวลาในการทำงานวิจัยนี่เอง ที่ทำให้หมอพรพิศได้กลับไปที่โรงพยาบาลที่เคยทำงานอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เธอกลับไปมองด้วยสายตาใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตลอด 13 ปีของการเป็นแพทย์ นำมาซึ่งความเข้าใจใหม่และคำตอบในชีวิต
หาคำตอบให้ชีวิตด้วยงานวิจัย
Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นภัยเงียบที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในคนทำงาน ไม่เว้น “คนในระบบสุขภาพ” ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์มีภาวะหมดไฟเพิ่มสูงขึ้น จากค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ใน พ.ศ. 2563 เป็นร้อยละ 4.7 ใน พ.ศ. 2564 และพุ่งสูงถึงร้อยละ 12.2 ใน พ.ศ. 2565[1] สอดคล้องกับการศึกษาของต่างประเทศที่พบว่า อาชีพที่มีภาวะหมดไฟสูงที่สุดคืออาชีพแพทย์[2]
ภาวะ Burnout นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้ว ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2553 ที่หมอพรพิศได้เริ่มงานวิจัย จากความตั้งใจแรกที่ต้องการทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้คนในระบบสุขภาพต้องตกอยู่ในภาวะ Burnout หมดไฟในการทำงาน แต่เมื่อกระบวนการวิจัยดำเนินไปเรื่อย ๆ หมอพรพิศก็เห็นความจริงสำคัญประการหนึ่งว่า ที่จริงแล้วตัวเธอเองก็ตกอยู่ในภาวะ Burnout เช่นเดียวกัน
“Burnout คือ เราลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เราเย็นชาต่อความรู้สึกของคนอื่น จำได้ว่าตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 4 แรกๆ งงมาก ด้วยความที่โรงพยาบาลเป็นสถานที่ซึ่งมีความเข้มข้นของความรู้สึกตลอดเวลานะ คนนี้ร้องไห้ คนนั้นกำลังจะตาย คือจริง ๆ แล้วมันซีเรียสมาก มันคือความเป็นมนุษย์ทั้งนั้น แต่กลับกลายเป็นว่า มันก็ไม่ได้กระทบใจของบุคลากรทางการแพทย์ขนาดนั้น แรกๆ เราก็มีความรู้สึกร่วมนะ แต่ทุก ๆ วันที่อยู่ในบรรยากาศนั้น แล้วก็ไม่ได้มีใครรู้สึกอะไร เราก็กลายเป็นไม่รู้สึกตาม คือไม่มีใครสอน ว่า เราต้องจัดการกับอารมณ์ตัวเองยังไง มันไม่ได้อยู่ในหลักสูตร ก็มีพูดบ้างสั้นๆ ว่า อย่า sympathy นะ ให้ empathy ก็พอ หลังจากนั้น ยิ่งนานวัน เราก็กลายเป็น apathy ไร้ความรู้สึก เหมือนที่คนรอบๆ ตัวเป็น คือสถานการณ์และบรรยากาศ ทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ว่า เราต้องอยู่กับงานที่ต้องทำ เราต้องใช้ความคิดให้มาก ต้องตีโจทย์ให้ออก ว่าคนไข้เขาเป็นอะไร โฟกัสที่ตัวเอง ว่าวันนี้เราต้องทำอะไร งานเราต้องเสร็จนะ นั่นต่างหากคือหน้าที่ของเรา เลยลืมไปว่า คนที่อยู่ตรงหน้าเขากำลังรู้สึกอะไรอยู่”
งานวิจัยคืบหน้า ผู้วิจัยเติบโตด้านใน
“การงานกับชีวิตด้านในของบุคลากรทางการแพทย์” คือชื่องานวิจัยของพรพิศ เป็นการวิจัยเชิงปรากฏการณ์วิทยาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชีวิตการงานและชีวิตด้านในของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเหตุปัจจัยที่หล่อหลอมให้เป็นเช่นนั้น โดยเก็บข้อมูลจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (participant observation) เป็นหลัก และใช้เทคนิคอื่น ๆ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ได้แก่ การสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง
“พี่พยาบาลทักว่า คุณน่ะจะฟังคนอื่นได้หรือ เราเลยเพิ่งรู้ตัว ว่าที่ผ่านมาเขาไม่รู้สึกว่าเราฟังเขาเลย คือเพิ่งรู้ตัว ว่าที่เราคิดว่าเราฟังแล้ว คือเราฟังไวมาก ถามไปปุ๊บ พอเขาตอบกลับมาแค่ประโยคเดียว เราเดาไปจนถึงปลายทางแล้ว เราก็จัดการทำเลย ก็เลยเป็นนิสัยที่เราไม่รู้ตัวว่าเราเป็นแบบนั้น และเขาเห็นเราเป็นแบบนั้น”
เมื่อกลับมาคิดทบทวนจึงพบที่มาของนิสัยด่วนสรุปความเองก่อนฟังให้จบ ว่ามาจาก “การเป็นแพทย์” ที่ต้องซักประวัติอย่างตรงประเด็น เมื่อทำบ่อยก็ยิ่งแม่นยำและใช้เวลาน้อยลง แต่กลับกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้การรับรู้ข้อมูลบกพร่อง จำกัดการสังเกตและการรับฟังให้เป็นไปตามกรอบและร่องความคิดที่มีอยู่ก่อนแล้ว
การสัมภาษณ์ใช้การสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ มุ่งความถูกต้องตรงตามโลกทัศน์ (ความจริงอัตวิสัย - subjective reality) ของผู้ให้ข้อมูลเป็นหลัก เจตนา “เจาะ” ให้ผู้ให้ข้อมูลกล้าพูดสิ่งที่อยู่ในใจให้ได้มากที่สุด โดยผู้วิจัยพยายามเท่าทันอคติของตน ห้อยแขวนการตัดสินถูกผิด รักษาสมดุลของการฟังเสียงภายนอก (ผู้ให้ข้อมูล) และเสียงภายใน (ความรู้สึก ความคิด) พยายามรักษาประเด็นและทิศทางของการสนทนาโดยไม่ควบคุม ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ ใช้ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ฟังทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ทำให้ฟังได้ดีขึ้น เข้าใจการอยู่กับคนตรงหน้า อยู่กับตัวเอง อยู่กับปัจจุบัน และไม่ด่วนตัดสิน
การกลับไปที่โรงพยาบาลเพื่อทำวิจัยในครั้งนี้ หมอพรพิศได้เห็นบรรยากาศเดิม ๆ อีกครั้ง แต่ด้วยสายตาใหม่ สิ่งที่เห็นจึงเปลี่ยนไปอย่างมาก
“จิตตปัญญาศึกษาบอกให้เราสังเกต พอสังเกตอะไรนาน ๆ เราก็จะเห็นมุมใหม่ เห็นว่าภายใต้ปฏิกิริยานั้นมีความรู้สึกอะไรอยู่บ้าง สิ่งที่เห็นมากที่สุดคือความกลัว ซึ่งเป็นรากเหง้าของทุกอย่าง พยาบาลไม่รู้จะตามใครก็กลัว ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นก็กลัว หมอยิ่งกลัว กลัวไม่เก่ง กลัวโง่ กลัวถูกตัดสิน ตอนแรกเราคิดว่าคนไข้น่าจะกลัวอยู่ฝ่ายเดียวใช่ไหม แต่จริง ๆ แล้วทุกคนกลัวหมด กลัวตัวเองจะเดือดร้อน เห็นภาพตัวเองเมื่อก่อนซ้อนขึ้นมา ภายใต้ความโกรธที่เราแสดงออก แต่จริง ๆ แล้วคือกลัว เรากลัวว่าเราจะช่วยไม่ได้ กลัวว่าจะจัดการสถานการณ์ไม่ได้ หงุดหงิดที่บอกเราช้าไป คือเรากลัวก่อน แล้วก็กังวล แล้วเราก็โกรธ เหวี่ยงไปที่คนอื่น อยากจะให้ความพลาดนั้นไม่ใช่ของเรา กลัวพลาด กลัวทำไม่สำเร็จ กลัวเยอะมาก”
นอกจากนี้ ระหว่างการสังเกต ยังมีการจดบันทึกย่อ (field note) ตามที่เห็นและได้ยินโดยไม่ตีความ บันทึกเสียง สภาพแวดล้อมทางกายภาพ (อากาศ เสียง กลิ่น) จดบันทึกสะท้อน (reflection note) คือความรู้สึก ความคิด การคาดเดาหรือตีความในขณะที่สังเกต ซึ่งแยกไว้เป็นส่วนหนึ่งในบันทึกย่ออีกด้วย
ความจริงแห่งชีวิต
เมื่อถามถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานวิจัยชิ้นนี้ พรพิศบอกว่า
“ประเด็นที่สำคัญมากคือ เราเป็นสิ่งแวดล้อมของคนอื่น ดังนั้นเรามีผลต่อโลกภายในของคนอื่นและคนอื่นมีผลต่อโลกภายในของเรา โลกภายในหรือชีวิตด้านใน คือ อารมณ์ความรู้สึก ความเชื่อ ทัศนคติ คุณค่า อุดมคติ แล้วโลกภายในไม่ได้แยกจากโลกภายนอกคือชีวิตการทำงาน เวลาข้างในหงุดหงิด เบื่อ หรือทุกข์ก็สะท้อนออกมาข้างนอก”
“เราต้องตั้งหลักที่เราให้ได้ก่อน เราต้องเห็นก่อน เห็นความทุกข์ กลับมาที่ตัวเราเองว่าเรากำลังกลัวอยู่นะ กลัวผิด กลัวพลาด กลัวโง่ กลัวคนอื่นจะว่าหรือมองเราไม่ดี เราทุกข์อยู่ รู้ตัวไหมว่าเรากำลังไม่ปกติ จิตตปัญญาศึกษาให้เราฝึก เริ่มต้นคืออยู่กับตัวเองเป็น รู้ว่าเรากำลังรู้สึกอะไร รู้ว่าอะไรส่งอิทธิพลต่อความคิดของเรา รู้ว่าบางครั้งเราก็คิดแบบนี้ บางครั้งเราก็คิดแบบโน้น เพราะว่ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้เข้ามามีผลต่อความคิดของเรา เหมือนท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆมีพายุตลอดเวลา อันนี้เป็น core concept ของจิตตปัญญา สำหรับคำถามว่า แล้วเราจะรู้ตัวได้อย่างไร พี่คิดว่าทุกคนต้องมีเวลาพัก เหมือนท้องฟ้าต้องมีเวลาโล่งบ้าง จึงจะเห็นเวลามีก้อนเมฆมีพายุเข้ามา เราแค่เห็น เราก็ตื่นออกมาจากพายุนั้นแล้ว เพราะความปั่นป่วนทั้งหมดมันปั้นขึ้นมาจากจิตที่อยู่ในโหมดปกป้อง ความกลัว ความโกรธ ความไม่รู้ ความสับสนอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา เราแค่ตื่นขึ้นมา ให้จิตกลับสู่โหมดปกติ ไม่กลัว ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่โกรธง่าย ไม่ทุกข์ง่าย อะไร ๆ จะดีขึ้นเอง สิ่งหนึ่งที่เราเปลี่ยนได้แน่ ๆ คือตัวเรา แล้วก็ลองดูสิว่าคนรอบ ๆ เราจะดีขึ้นไหมถ้าเราเปลี่ยน คนรอบข้างและระบบย่อมส่งผลต่อกันและกัน การทำให้ชีวิตด้านในของบุคลากรกลับสู่ความเป็นปกติต้องทำไปพร้อมกับการทำให้ระบบโรงพยาบาลกลับสู่ความเป็นปกติ คือ ระบบที่มีชีวิต”
“และเราต้องการเวลาสำหรับการสะท้อนหรือ reflection ซึ่งทำได้ทั้งการสะท้อนด้วยตัวเอง หรือพูดคุยกับคนอื่น คนใกล้ตัว แล้วให้เขาสะท้อนบอกเรา แต่สิ่งที่ต้องได้ก่อนคือความเคลียร์ในการเห็น เห็นจริง ๆ เห็นชัด ๆ โดยเฉพาะตัวเราเอง การจะตื่นขึ้นมาจากโลกที่อยู่มาทั้งชาติมันก็ยากอยู่นะ”
พูดคุยมาถึงตรงนี้ อดไม่ได้ที่จะย้อนกลับมาถามตัวเองว่า แล้วตัวเราเองล่ะ วันนี้เรา ‘ตื่น’ หรือยัง เรา ‘เห็น’ ตัวเอง และความจริงของตัวเราเองมากน้อยแค่ไหน ความปกติในชีวิตเรา เป็นความปกติที่แท้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเพราะเรายังไม่เห็นว่าเราชินชากับความไม่ปกติจนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว
ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์
งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เราเห็นว่า จะสร้างระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ไม่ได้เลย หากประตูแห่งชีวิตด้านในของบุคลากรไม่ถูกเปิดออก เพื่อให้สนามความสัมพันธ์ของคนในโรงพยาบาลเป็นไปด้วยดี เกิดความเข้าใจว่าต่างเป็นกันและกันอย่างลึกซึ้ง รวมถึงมีอิทธิพลต่อกันตลอดเวลา
ทุกวันนี้ พรพิศเลือกเส้นทางใหม่ด้วยการเป็นผู้เยี่ยมสำรวจ การพัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (HA) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)
“ก็เป็นการไปตั้งคำถามเพื่อให้เขาเกิด insight ในสิ่งที่เขาทำ ว่ามันมีประโยชน์นะ เขากำลังทำในสิ่งที่ดี และมันจะดีกว่านี้ ถ้าทำแบบนี้แบบนั้น มีมาตรฐานหลวมๆ แบบเป็นแนวโค้ชมากกว่าการออกคำสั่ง งานนี้ก็พอจะสอดคล้องกับสิ่งที่พี่ค้นพบจากการทำวิทยานิพนธ์นะ คือให้เขามองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ พยายามพาเขากลับมาสู่โหมดปกติ บอกเขาว่า เขาทำสิ่งนี้ มันดีนะ เมื่อคนรู้สึกดีกับตัวเอง ก็จะเข้าสู่โหมดปกติมากขึ้น การปกป้องตัวเองลดลง การมองเห็นคนอื่น เข้าใจคนอื่นจะมากขึ้น
“วิทยานิพนธ์พยายามบอกว่า เรื่องงานข้างนอกกับโลกข้างในของเขา มันไม่ได้แยกกัน พี่คิดว่าสิ่งที่พี่ทำคือ ค่อยๆ พาคนที่ตั้งใจทำงานให้มีคุณภาพเข้าสู่โหมดปกติ สัมผัสความเป็นแก่นแท้ความตั้งใจที่ดีงาม ธรรมชาติความเป็นมนุษย์ในตัวเขาเองให้มากขึ้น พอเขาเข้าถึงตรงนี้แล้วเขาก็จะทำมันดีขึ้นเอง เขาทำงานอย่างมีความหมาย เขารู้สึกได้กับผู้คนที่กำลังทุกข์อยู่ เขาจะอยากทำมันให้ดีขึ้นอีก เพื่อเป้าหมายที่มันเกิดจากใจเขาเอง มีเครื่องมือเชิงระบบเพื่อทำให้การทำงานเป็นทีมในระยะยาวง่ายขึ้น เเล้วก็ยั่งยืน ดีขึ้นสำหรับระบบสุขภาพ”
อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่
https://drive.google.com/file/d/1OM3NNXKv6hGzBBeuYQbRfipdDPod-5Hp/view?usp=drivesdk