กิจกรรมหลักสูตรการศึกษาด้วยปัญญา ความรัก และความสุข สำหรับครูผู้ยกระดับการเรียนรู้และการเยียวยาจิตใจ: โมดูล 3 Practice & Practicum สำหรับครูทันตแพทย์ ม.มหิดล รุ่นที่ 2

  • 15 พฤษภาคม 2567

         

          กิจกรรมหลักสูตรการศึกษาด้วยปัญญา ความรัก และความสุข สำหรับครูผู้ยกระดับการเรียนรู้และการเยียวยาจิตใจ: โมดูล 3 Practice & Practicum สำหรับครูทันตแพทย์ ม.มหิดล รุ่นที่ 2 จำนวน 20 คน จัดอบรมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงตนเองและการดูแลนักศึกษา โดยกิจกรรมภาคเช้าเป็นการบรรยายแบบสนทนาใคร่ครวญให้แก่สมาชิกผู้เข้าร่วม มีวิทยากรคือ รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว ชี้ชวนให้สมาชิกระลึกถึงการมีจิตใจที่ผ่องใสในทุกๆสถานการณ์ และใจที่โอบอุ้มต่อทุกสรรพสิ่ง (Embrace , Foster) ซึ่งเป็นการให้ตัวเราเองทั้งหมดกับสิ่งนั้น การเห็นความทุกข์ยากลำบากของโลก และช่วยเหลือตามกำลังที่เรามี ที่เราทำได้ รวมถึงการยกระดับที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เช่น ส่งกำลังใจไปถึงผู้ที่อยู่ในสงคราม/ ไฟป่าที่เชียงใหม่ / ช่วยทำฟันให้คนที่ไม่มีกำลัง/ เอื้อเฟื้อดูแลลูกศิษย์ที่กำลังเติบโต รวมถึงการระลึกว่าเราเองก็ได้รับการโอบอุ้มจาก “ทุกสิ่ง” มาเช่นกัน และชวนสมาชิกทุกท่านนำการโอบอุ้มไปสู่ห้องเรียนของเรา สู่ที่ที่เราอยู่ เพื่อที่ห้องเรียนและที่ที่เราอยู่ จะเป็นที่ที่มีแสงสว่างแห่ง “ปัญญา ความรัก และความสุข”

         กิจกรรมภาคบ่าย สมาชิกแบ่งปันการเรียนรู้และความเปลี่ยนแปลงภายในตนเองและขยายสู่รอบ ๆ ตัวจาก การฝึกปฏิบัติตามโปรเจ็คท์ “Creative personal project” ซึ่งเป็นโครงการฝึกฝนต่อเนื่องของตนเองที่จะยกระดับการเปลี่ยนแปลงจากตนเองไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้างขึ้นรอบๆ ตัว เช่น การเรียนการสอนในห้องเรียน การเรียน การสอนในชั้นคลินิก การปฏิบัติงานกับเพื่อนร่วมงานและคนไข้ผู้มารับการรักษา การเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษา โดยให้สมาชิกได้แบ่งปันว่าดำเนินการอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง / ได้ประสบการณ์การเรียนรู้และเห็นความเติบโตของตนเองอย่างไร / เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อรอบ ๆ ตัวอย่างไรบ้าง เช่น ห้องเรียน คนไข้ การทำงาน ฯลฯ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีตัวอย่างโปรเจ็กต์ เช่น

 

          “คลินิกสบายใจ” : ฝึกมีใจที่ “ว่าง” รับฟังคนตรงหน้าอย่างยอมรับ เข้าใจ ไม่ตัดสิน /กลุ่มเป้าหมายในการฝึก คือ คนไข้ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานร่วมกันในคลินิก ที่ครูและนักศึกษาได้สร้างพื้นที่ที่มีความสุขในการเรียนรู้ร่วมกัน

 

          “สมานัตตตา” : เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่เรียนในห้องแลปที่เรียนตามเพื่อนไม่ทัน ไม่เข้าห้องเรียนและไม่ส่งงาน โดยครูมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนมุมมองและวิธีดูแลเขาจากที่รู้จักในฉายา “กลุ่ม ICU” เป็น “I See U” คือ ครูสังเกต เข้าใจและสื่อสารเชื่อมกับนักศึกษา เพื่อช่วยเอื้อให้เขามีแนวทางแก้ไขปัญหา และมีกำลังใจที่จะตั้งใจเรียน

 

          “สังเกตใจ” : ครูฝึกที่จะสังเกตใจตนเอง ระลึกมีสติ อยู่เสมอ และเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าก็จะยิ้มต้อนรับกับทุกสิ่ง โดยจะฝึกกับทุกอย่างที่ได้พบตลอดทั้งวัน ระหว่างทางได้พบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การระลึกรู้ตัวและการสังเกตความคาดหวังของตนเองก็ทำให้กลับมาสู่การฝึกฝนได้

 

          “Jet ทีมของเรา” : ฝึกที่จะ encourage ให้ทีมเสนอวิธีการแก้ปัญหาในงานและตัดสินใจร่วมกัน โดยไม่เอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง สมาชิกพบความเปลี่ยนแปลงในตนเองที่รับฟังมากขึ้น ตัดสินผู้อื่นน้อยลง แม้จะสังเกตเห็นความคาดหวังในใจตนเองอยู่ แต่ก็เท่าทันมากขึ้น และพบว่าทีมทำงานร่วมกันได้ดีมากขึ้น โดยที่ตนเองเอาตัวเองเป็นที่ตั้งน้อยลง

 

          “พื้นที่ว่าง”: ฝึกที่จะเป็นพื้นที่ว่างรับฟังอย่างเข้าใจ โดยทุกครั้งที่มีคนมาคุยจะวางโทรศัพท์ วางงานวางตัวตน จะทำทุกครั้งที่มีโอกาส โดยเฉพาะกับการเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาปีที่ ๔ ที่มีหน้าที่ดูแลอยู่ เมื่อฝึกฝนพบว่ามีความสุขในการอยู่ร่วมกันและสัมพันธภาพดีขึ้น และขยายไปสู่ครอบครัวที่สนิทกับลูกมากขึ้น มีอะไรลูกก็มาเล่าให้ฟัง เป็นต้น

 

Back To Top