กิจกรรม Workshop เรียนรู้จังหวะชีวิต สำหรับบุคลากรศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ ปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1-3 มีนาคม พ.ศ. 2567 ณ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

  • 03 มีนาคม 2567
กิจกรรมเรียนรู้จังหวะชีวิตสำหรับบุคลากรศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาไปประยุกต์ใช้กับตนเอง และใช้ในการทำงาน เชื่อมโยงกับ motto ขององค์กรที่ว่า “กายป่วยใจไม่ป่วย”

     กิจกรรมเรียนรู้จังหวะชีวิตสำหรับบุคลากรศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ ถูกออกแบบเป็นโมดูลการเรียนรู้สองรุ่น คือ กลุ่มบุคลากรสายปฏิบัติการ และกลุ่มบุคลากรสายบริหาร เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาไปประยุกต์ใช้กับตนเอง และใช้ในการทำงาน เชื่อมโยงกับ motto ขององค์กรที่ว่า “กายป่วยใจไม่ป่วย” และการให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (humanized care) นอกจากนี้ เมื่อผ่านการอบรมแล้วจะสามารถนำแผนงานการแก้ปัญหาด้วย project-based ซึ่งโครงการฯ จัดให้มีกระบวนการโค้ชโดย ผศ.ทพญ.นัยนา บูรณชาติ อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาดำเนินงาน

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ เป็นการอบรมบุคลากรสายปฏิบัติการ จำนวน 16 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เวรเปล พยาบาล นักกายภาพบำบัด งานดูแลผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่เวชระเบียน การเงิน เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป และช่างซ่อมบำรุง เข้าร่วมเรียนรู้และฝึกปฏิบัติดังกำหนดการอบรม 3 วัน
 
     โดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษาได้รับความอนุเคราะห์สถานที่ฝึกเรือใบ การอำนวยความสะดวก รวมทั้ง การดูแลขณะฝึกเล่นเรือใบจากทีมนักกีฬาและโค้ชของสมาคมเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ โดยมี น.อ. ธีทัต รัตนศีล รองผู้บังคับการศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และผู้บังคับการกองฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัยทางทะเลและชายฝั่ง และ น.อ.ทวียศ รัตนศีล รองผู้บังคับการศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เป็นผู้ดูแลการอบรมตลอดระยะเวลาการอบรม
 
     ตลอดสามวันของการอบรม ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้วิธี ฝึกบังคับเรือใบ ณ สมาคมเรือใบแห่งประเทศไทย ได้ฝึกบังคับเรือใบบนบก ฝึกปฏิบัติบังคับเรือใบในทะเล โดยมีครูฝึกซึ่งเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติคอยดูแลประกบทุกลำ ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมได้สังเกต เรียนรู้ เข้าใจ ธรรมชาติภายในตนเอง ทั้งอารมณ์ความรู้สึก ความกลัว และการตัดสินใจ รวมถึงได้เชื่อมโยงสัมผัสตนเองเข้ากับธรรมชาติรอบตัวที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า รู้จักที่จะล้อหรือขวางลมด้วยการบังคับใบเรือให้วิ่งไปได้ หรือ แม้ว่าลมจะนิ่งก็สามารถรอได้เพื่อมองหาจังหวะในการเดินเรือต่อ เพื่อนำประสบการณ์เหล่านี้กลับไปดูแลตัวเอง ดูแลความสัมพันธ์รอบตัว และการดูแลคนไข้ได้อย่างสมดุลสอดคล้องกับปรัชญา “กายป่วยใจไม่ป่วย” ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ผู้ดูแลเสียก่อน
 
     นอกจากการเรียนรู้จังหวะชีวิตผ่านการเล่นเรือใบแล้ว ผู้เข้าอบรมยังได้ศึกษาดูงานอนุรักษ์เต่าทะเล และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำความเข้าใจการดูแลระยะท้าย หรือ Palliative care กับ นอ.นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ วิสัญญีแพทย์ ซึ่งต้องยึดหลักการเพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตของคนไข้ไว้ให้มั่น และต้องทำงานเป็นทีมบนบริบทงาน รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรอีกด้วย เริ่มจากจุดบริการเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายผล จะทำให้เรามีความสุขในงาน
 
     ในช่วงท้ายของการอบรม ผศ.ทพญ.นัยยา บูรณชาติ ได้ชวนผู้เข้าอบรมสะท้อนการเรียนรู้จากการอบรมสามวันนี้ ดังตัวอย่างที่เป็นการสะท้อนการเติบโตด้านใน เช่น
“เราก้าวข้ามความกลัว แบบกระโดดข้าม ด้วยความเชื่อใจคนที่นำพาเราไป”
“มองไปข้างหน้าได้ แต่ต้องทำไปในแต่ละวันด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”
“ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ฮีลใจได้อยู่กับธรรมชาติ ทำได้เมื่อครูฝึกให้เล่นคนเดียว”
 
 
 
Back To Top