สุนทรียสนทนา... เปิดพื้นที่ให้คน ลิง และเมือง สร้างสรรค์อนาคตร่วมกัน
เรื่องโดย แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร, อริสา สุมามาลย์
ภาพประกอบโดย จิดาภา ทัศคร
เมื่อพูดถึงลพบุรี เรามักจะนึกถึงลิงหรือเทศกาลประจำปีอย่าง “โต๊ะจีนลิง” ที่จัดมาต่อเนื่องยาวนาน มีชื่อเสียงโด่งดัง ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกภายใต้ชื่อ Lopburi Monkey Buffet Festival แสดงถึงความสำคัญและความสัมพันธ์อันดีของลิงและคนลพบุรี จนกระทั่งราวกลางปี 2567 มีข่าวที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจคือการเคลียร์ปัญหาลิงที่สร้างความเดือดร้อนให้คนในพื้นที่ โดยย้ายลิงออกไปยังสถานอนุบาลลิงโพธิ์เก้าต้น ความรู้สึกในการเสพข่าวจึงระคนกันไปทั้งเอ็นดูในความน่ารักซุกซนและฉลาดของลิง ตกใจกับภาพลิงป่วนเมือง เห็นใจชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน และสงสารเจ้าหน้าที่ที่จับลิงอย่างยากลำบาก มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการย้ายลิง ซึ่งไม่ต่างจากความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่มีทั้งกลุ่มที่ต้องการให้มีลิงอยู่ร่วมกับคนได้อย่างเดิม กับกลุ่มที่ไม่ต้องการให้มีลิงหลงเหลืออยู่เลยแม้แต่ตัวเดียว ปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ และเป็นที่มาของ “งานวิจัย” หรือการหาความจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน
สู่ทางออกของปัญหาด้วย “งานวิจัย”
อาจารย์อุ๊ย - ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมวิจัยของโครงการวิจัย “การศึกษาแนวทางพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับลิงในพื้นที่ชุมชนจังหวัดลพบุรี” เล่าถึงการแก้ปัญหาในครั้งนี้ว่า “ที่จริงมันไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคนกับลิงหรอก มันเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับคนนี่แหละ เขาชวนพี่เข้าไปทำโครงการวิจัยนี้ด้วย เพราะต้องการใช้สุนทรียสนทนา (dialogue) เป็นแนวทางให้คนที่มีความเห็นต่างกันหรือขัดแย้งกัน สามารถคุยกันได้”
“เขา” ในที่นี้หมายถึง ดร.จุฑามาศ สุคนธปฏิภาค ผู้รับผิดชอบหลักของโครงการวิจัยนี้ ดร.จุฑามาศ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เคยมาเรียนรู้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษา แล้วนำไปใช้ในการเรียนการสอน เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเองและชั้นเรียนเป็นอย่างมาก จึงมีความเชื่อมั่นในกระบวนการนี้ เมื่อ ดร.จุฑามาศ ทำงานวิจัยนี้จึงอยากนำกระบวนการสุนทรียสนทนาเข้าไปทำความเข้าใจและจัดการสถานการณ์ความขัดแย้งแบบคิดต่างขั้วที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อช่วยเสริมศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลเรื่องความขัดแย้งนี้ และยังเป็นการพัฒนากระบวนการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างแนวทางการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับลิงร่วมกันด้วย โครงการนี้เป็นงานวิจัยที่สมาคมนิเวศยั่งยืนรับทุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ทีมวิจัยประกอบด้วย ดร.เรียวไผ่ จันทรชิต หัวหน้าโครงการจากสมาคมนิเวศยั่งยืน, ดร.จุฑามาศ สุคนธปฏิภาค และ ดร.นิธิมา สุทะพินธ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี, นักวิจัยในพื้นที่ ได้แก่ สพ.ญ.จุฑามาศ สุพะนาม สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิรักษ์ลิง คุณวิศรุต สมงาม หัวหน้ากลุ่มพลเมืองลิงและสื่อสาธารณะท้องถิ่น THE LOCAL และ อาจารย์อุ๊ย - ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
สุนทรียสนทนาคืออะไร
สุนทรียสนทนาหรือ dialogue เป็นกระบวนการสำคัญของโครงการวิจัยนี้ แน่นอนว่าต้องมีอะไรที่ “สุนทรีย์” มากกว่าการสนทนาทั่วไป อาจารย์อุ๊ยขยายความในเรื่องนี้ว่า “สุนทรียสนทนา คือ พื้นที่ของการอยู่ร่วมกัน การพูดคุยกัน โดยมีแนวทางในการอยู่ร่วมกัน 4 ข้อ คือ Deep listening การฟังอย่างลึกซึ้ง, Respecting เคารพความแตกต่างหลากหลาย เคารพในจุดยืนของแต่ละคนที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน, Suspending คือการห้อยแขวน เมื่อเคารพกันแล้วเราจะห้อยแขวนเสียงตัดสินที่ดังอยู่ในหัวเราได้ เช่น ชอบ-ไม่ชอบ ดี-ไม่ดี ถูก-ไม่ถูก และสุดท้ายคือ Voicing การส่งเสียงข้างในของเราออกมา”
สังเกตว่าองค์ประกอบแรกของสุนทรียสนทนาคือการฟัง ส่วนการพูดเป็นองค์ประกอบท้ายสุด นัยว่าต้องการสื่อให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการฟังคนตรงหน้าอย่างแท้จริง จะทำให้เกิดความเข้าใจ แล้วจึงพูดหรือส่งเสียงของเราออกไป
อาจารย์อุ๊ยชี้ให้เห็นแก่นว่า “หัวใจสำคัญของสุนทรียสนทนา คือ การอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับ ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อยู่กับคนตรงหน้าได้ 100% ซึ่งนั่นคือผล แต่กระบวนการที่จะนำไปสู่ผลตรงนั้นได้คือการรู้เท่าทันตัวเอง ละวางเสียงตัดสินในหัว ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา สุนทรียสนทนาเป็นวิถีปฏิบัติ (practice) อย่างหนึ่งในหลายแบบ เช่น ศิลปะ การภาวนา การฟัง การใช้ดนตรี การเคลื่อนไหว มีวิถีปฏิบัติที่หลากหลายมาก แต่มีแกนหลักที่เป็นจุดร่วมคือการกลับมามี self-awareness รู้เท่าทันตัวเอง เท่าทันการที่เราเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างคนตรงหน้า ทุกวันเราต้องฟังคนอื่นอยู่ตลอด แต่ส่วนใหญ่เราพูดตอบโต้หรือแสดงออกไปแบบไม่ทันแขวน คิดอะไรเราก็พูดออกไป ไม่เท่าทันความคิดตัวเอง สำหรับคนที่ฝึกเรื่องสุนทรียสนทนามักจะบอกว่าใจเย็นขึ้น นิ่งฟังและรอให้คนอื่นพูดจนจบได้ แล้วจึงค่อยแสดงความเห็นของตัวเอง ทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นเหมือนเราเข้าไปนั่งในใจเขาได้”
การวิจัยโดยผสานกระบวนการทางจิตตปัญญาศึกษาเพื่อตอบโจทย์สังคม
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาปรากฏการณ์โดยใช้กระบวนการสุนทรียสนทนา (dialogue) ในการสนทนากลุ่ม (Focus Group) จำนวน 80 คน โดยผู้สนทนามาจาก 10 กลุ่ม ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, งานปกครอง, หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัด, สื่อท้องถิ่นและสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด, ภาคประชาสังคมด้านการกำหนดแนวทางอนุรักษ์และพัฒนาเมือง, ภาคประชาสังคมด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ภาควิชาการและสถาบันการศึกษา, ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเห็นด้วยกับการให้มีลิงในเมือง, ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบและไม่เห็นด้วยกับการให้มีลิงในเมือง และภาคการเมือง
สำหรับระเบียบวิธีวิจัย ประกอบด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ (Situational analysis), การประมวลแนวทางการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับลิง, การประเมินช่องว่าง (Gap analysis) และเวทียุทธศาสตร์เพื่อเผยแพร่งานวิจัยและยกระดับความเข้าใจต่อการจัดการลิงโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม
“ในเวทีคืนข้อมูล เราเชิญคนทั้ง 10 กลุ่มนี้มาพูดคุยกันโดยให้คนจากกลุ่มเดียวนั่งแยกกันคนละโต๊ะ เราจัดในรูปแบบ World café ซึ่งเป็นกระบวนการที่คนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ถ้ามองเผิน ๆ จากภายนอกจะเหมือนการระดมความคิด แต่ World café แตกต่างไปตรงที่เราให้กติกาเรื่องการฟังก่อน การได้ยินความคิดของตัวเอง การอยู่กับคนตรงหน้า การวางเสียงตัดสินลง ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าจะพูดคุยกันด้วยท่าทีอย่างไร แล้วให้โจทย์เพื่อให้เขาแบ่งปันความคิดเห็นกันโดยแต่ละโต๊ะมี facilitator หรือคนอำนวยพื้นที่การพูดคุยคอยช่วยประคับประคองวง รูปแบบการจัดโต๊ะ การเปิดดนตรีคลอ สร้างบรรยากาศสบายสมชื่อว่าเป็นคาเฟ่ที่ไม่เคร่งเครียดเหมือนบรรยากาศในห้องประชุม”
“สิ่งที่ได้คือทุกคนเห็นว่าไม่ใช่แค่เรื่องลิงแล้ว แต่มันมากกว่านั้น กระบวนการสุนทรียสนทนาทำให้เราสามารถพาคนไปถึงใต้ภูเขาน้ำแข็ง คือมันไม่ได้อยู่แค่หัวแล้วมองเห็นแต่ปัญหา ต้องแก้ปัญหา แต่ลงไปถึงระดับของใจ คุณค่าความรู้สึก ถึงหัวใจความเป็นมนุษย์ที่อยู่ข้างใน พูดคุยในฐานะของเพื่อนมนุษย์ที่มีความเข้าอกเข้าใจกัน แม้ว่าจะมีความเห็นที่ต่างกัน เช่น เข้าใจคนที่ไม่อยากให้มีลิง ไม่ใช่เพราะเกลียดลิง แต่เป็นเพราะต้องการให้ลิงมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม และเมื่อให้โจทย์ที่ชวนมองภาพเมืองลพบุรีที่อยากเห็นในอนาคต ประเด็นก็ไม่ได้อยู่ที่ความขัดแย้งหรือเห็นต่างเรื่องลิงแล้ว แต่เปลี่ยนไปอยู่ที่การพัฒนาเมือง และการแก้ไขปัญหาเรื่องลิงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง ที่ผ่านมาโทษลิงเป็นหลัก ตอนนี้มีเสียงบอกว่าลิงเป็นแพะ ทิศทางการพูดคุยเปลี่ยนเป็นว่าควรทำอะไรเพื่อให้ภาพลพบุรีในอนาคตที่อยากเห็นนั้นเกิดขึ้นจริง”
การเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม
หัวใจสำคัญที่ทำให้งานวิจัยนี้ตอบโจทย์สังคมได้คือการร่วมมือร่วมใจของคน โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวคนแต่ละคนคือการเริ่มเปิดใจรับฟังกันได้อย่างแท้จริง สามารถวางเสียงตัดสินลง สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันด้วยสุนทรียสนทนา ความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงเป็นการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ และพัฒนาไปสู่การมองภาพและออกแบบอนาคตของเมืองร่วมกัน
อาจารย์อุ๊ยเล่าถึงผลที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้ว่าตัวงานวิจัยบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ กล่าวคือ ได้ข้อมูลสถานการณ์ของการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องลิง ได้ข้อเสนอแนะที่มาจากคนกลุ่มต่าง ๆ และได้หน้าตาอนาคตของเมืองลพบุรีที่อยากเห็น โดยพบว่า การแก้ไขปัญหาลิงในเมืองลพบุรีต้องพิจารณาหลายมิติควบคู่กัน ทั้งมิติทางสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความเชื่อ สิทธิและสุขภาวะของคน สวัสดิภาพสัตว์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมาย การกระจายอำนาจและบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการสื่อสารสาธารณะ
ทั้งนี้ มีตัวอย่างแนวทางแก้ไขในเชิงระบบ เช่น ให้ความรู้คนเพื่อเข้าใจพฤติกรรมลิง ย้ายลิงเข้าศูนย์อนุบาลรอปล่อยในพื้นที่ธรรมชาติ ดูแลสุขภาวะของลิง ออกประกาศรองรับบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมในสังคม นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากคนในพื้นที่ เช่น การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมือง การระดมทรัพยากรอย่างมีเจ้าภาพหลัก สร้างความเข้มแข็งจากฐานรากโดยคนลพบุรีร่วมกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน มุ่งสู่ภาพอนาคตที่เมืองลพบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมสู่มรดกโลก ที่คนและลิงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและมีความสุข ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลและองค์ความรู้ที่ทำให้การทำงานนี้ถูกคิดและวางแผนไปในทิศทางที่อยู่บนฐานของความรู้อย่างแท้จริง
“พลังงานที่เห็นได้จากทุกวงคือ การให้ข้อมูลในเชิงสร้างสรรค์ ทุกคนอยากแสดงความเห็น อยากมีส่วนร่วม ซึ่งการสร้างการมีส่วนร่วมโดยเริ่มจากให้คนมีโอกาสฟังเสียงของกันและกัน คิดร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญมากในการพัฒนาสังคม และประเด็นที่ผุดขึ้นมาในวงคือ การเอาปัญหาเรื่องลิงมาเป็นการเรียนรู้ของคนในลพบุรี และมีคำสำคัญที่ชอบมากคือ ‘การกระจายอำนาจคือการกระจายความรับผิดชอบ’ แสดงให้เห็นแนวคิดที่ว่าทุกคนต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ของตัวเอง ทำให้เห็นการเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่เป็นการกล่าวโทษ ทำไมหน่วยงานนี้ไม่ทำอย่างนั้น หน่วยงานนั้นไม่ทำอย่างโน้น เปลี่ยนเป็นเริ่มคิดว่าแล้วฉันควรจะทำอะไร ฉันจะมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง ซึ่งอันนี้เป็นผลของงานวิจัยที่สำคัญไม่แพ้ข้อมูลที่ได้เลย”
“สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้วิจัย เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวของผู้วิจัยที่มีท่าทีการฟังที่มีคุณภาพมากขึ้น เปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายได้ดีขึ้น แม้จะมีความคิดในการทำงานต่างกัน แต่เป็นบรรยากาศของการวางอคติหรือความไม่พอใจลง หลังจบ focus group ทุกครั้ง จะเป็นช่วง AAR-After Action Review ซึ่งเป็นพื้นที่ให้แสดงความรู้สึก บอกความคาดหวัง หรือชื่นชมกันและกัน หลังจากนี้ ทีมที่เป็นคนในพื้นที่ก็จะยังคงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป รวมถึงร่วมออกแบบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาว ซึ่งจะเชื่อมโยงไปกับเรื่องการพัฒนาเมืองลพบุรีด้วย”
“ทีมวิจัยเองก็ใช้กระบวนการสุนทรียสนทนาในการทำงานร่วมกัน คอยเตือน คอยเช็คกติกากัน เพราะในทีมก็มีคนที่เห็นต่างคนละขั้ว เรียกว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองของนักวิจัยได้เหมือนกัน คือเราไปทำกระบวนการสุนทรียสนทนากับคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็ต้องไม่ละเลยที่จะทำกับข้างในตัวเองด้วย ในทีมเป็นนักวิจัยที่มาจากหลากหลายสาขา ทั้งสายสิ่งแวดล้อม สัตวแพทย์ นักขับเคลื่อนสังคม งานนี้จึงทำให้เห็นว่าสามารถเอาแนวทางจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในงานวิจัยที่เป็นสหสาขาหรือข้ามศาสตร์ได้”
สำหรับผลที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อาจารย์อุ๊ยเล่าว่า “สำหรับตัวพี่เองสอนเรื่องนี้ในห้องเรียนหรือใน
workshop มานาน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เอาไปใช้กับสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งจริงในระดับจังหวัด ยิ่งรู้สึกเชื่อมั่นในแนวทางนี้ และเชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ด้วยว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้และเติบโตร่วมกันได้ ทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ที่คนมองอนาคตร่วมกัน ซึ่งจากกรณีนี้ก็จะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งในประเด็นคล้ายกันได้ เพราะตอนนี้หลายจังหวัดทั่วประเทศกำลังเจอปัญหาเดียวกันคือ ลิงเริ่มแพร่ขยายอาณาเขตไปสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เขาก็กำลังเฝ้ามองว่าลพบุรีจะทำอย่างไร หรือในประเด็นความขัดแย้งอื่น ๆ ก็สามารถใช้กระบวนการนี้เป็นต้นแบบในการดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เป็นแนวทางในการทำงานสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต และยกระดับการทำงานหรือการใช้ชีวิตในระดับความคิดไปสู่ระดับปัญญาญาณได้ ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนจากการดำเนินชีวิตด้วยสมอง มาใช้หัวใจและสติร่วมกัน เพื่อเข้าใจโลกและตนเองอย่างลึกซึ้ง และดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย”
อาจารย์อุ๊ยทิ้งท้ายว่า “มนุษย์ทุกคนต้องการความสงบ แต่ทำไมถึงเกิดความขัดแย้ง นั่นเป็นเพราะคนไม่รู้ว่าจะใช้วิธีการอย่างไรจึงจะยุติความขัดแย้งได้ เพราะสิ่งที่เขาทำเป็นคือ พอเห็นต่างก็ต้องทะเลาะกัน แต่เมื่อเราใช้แนวทางของสุนทรียสนทนาเข้ามามองไปข้างหน้าและหาข้อตกลงร่วมกัน เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเขาก็ได้ แต่เรารับรู้สิ่งที่เขาคิดหรือรู้สึกได้ อันนี้คือศักยภาพของความเป็นมนุษย์ สุนทรียสนทนาจะพาให้เราไปเห็นสิ่งดี ๆ ที่เราอยากเห็นร่วมกันได้ ไม่ใช่ดีเฉพาะของแต่ละคน เพราะดีของเราอาจจะไม่ดีของอีกคนก็ได้ และเราสามารถนำสุนทรียสนทนามาอยู่ในชีวิตได้เหมือนเป็นการภาวนาในชีวิตประจำวันอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นวิถีการฝึกปฏิบัติที่ฝึกให้เรารู้เท่าทันตัวเอง ฝึกเรื่องสติ และกลับมา connect หรือเชื่อมโยงกับตนเอง กับผู้อื่น กับโลก ผ่านเรื่องนี้ได้”
อ้างอิง
เรียวไผ่ จันทรชิต, จุฑามาศ สุคนธปฏิภาค, วิศรุต สมงาม, จุฑามาศ สุพะนาม, จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร, และนิธิมา สุทะพินธ์ (2567). โครงการศึกษาแนวทางพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับลิงในพื้นที่ชุมชน จังหวัดลพบุรี. รายงานฉบับสมบูรณ์. กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่