โครงการวิจัย การศึกษางานวิจัยแนวสุขภาวะทางปัญญา และวิธีวิทยาการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ดำเนินการเสร็จแล้ว

ผศ.ดร. สมสิทธิ์ อัสดรนิธี

  • 05 กุมภาพันธ์ 2567

 

โครงการวิจัยประจำปี : 2566

 

ชื่อโครงการวิจัย : โครงการวิจัย  การศึกษางานวิจัยแนวสุขภาวะทางปัญญา และวิธีวิทยาการวิจัยที่เกี่ยวข้อง


หัวหน้าโครงการ : ผศ.ดร. สมสิทธิ์ อัสดรนิธี 

 

นักวิจัยร่วม :   อ.ดร.อริสา สุมามาลย์และนางสาวกมลวรรณ เขียวนิล

 

ประเภทของโครงการ : โครงการวิจัย


ปีงบประมาณ : 2566


แหล่งเงินทุน : 

 

ทุนภายนอก : 

 บทคัดย่อ

          การจะผลักดันเรื่องสุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health) รวมถึงการเรียนรู้ที่มีมิติจิตวิญญาณ ให้เป็นที่ ยอมรับและสามารถส่งผลกระทบในวงกว้างจนถึงระดับนานาชาติได้นั้น งานวิจัยและการแสวงหาความรู้ได้อย่างเป็นระบบคือกุญแจสําคัญสําหรับเรื่องนี้ โครงการวิจัยการศึกษางานวิจัยแนวสุขภาวะทางปัญญาและวิธีวิทยาการวิจัยที่เกี่ยวข้อง มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาคุณลักษณะของงานวิจัยแนวนี้ที่พบได้ในบริบทต่าง ๆ จากบทความในโลกวิชาการทั่วโลก เพื่อให้เห็นว่าคุณลักษณะและประเด็นหลัก ๆ ของการศึกษาในภาพรวมมีอะไรบ้าง ซึ่งข้อค้นพบนี้จะนําไปสู่การทําความเข้าใจรูปแบบและหนทางของการทํางานวิจัยแนวนี้ รวมถึงตัวเครื่องมือและระเบียบวิธีได้ในที่สุด การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอาศัยระเบียบวิธีการวิจัยเอกสารเป็นหลักผลการวิจัยชี้ว่า งานวิจัยรวมถึงงานวิชาการแนวสุขภาวะทางปัญญาส่วนมากเน้นไปทางด้าน การวัดประเมินระดับการมีสุขภาวะทางปัญญา รวมถึงระดับของคุณภาพเชิงบวกด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาเครื่องมือวัด การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ การศึกษากระบวนการ หลักสูตร นิยามความหมายแนวคิด ประสบการณ์ส่วนบุคคลหรือของกลุ่ม เรื่องเล่า วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม รวมไปถึงประเด็นทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาวะทางปัญญาหรือการเติบโตขึ้นทางจิตวิญญาณ การได้เจาะลึกถึงรูปแบบการทํางานวิจัยเหล่านี้ โดยเฉพาะงานที่ขับเคลื่อนอย่างมีมิติจิตวิญญาณโดยตัวมันเอง ทําให้เห็นถึงคุณลักษณะของตัวเครื่องมือและวิธีการวิจัยที่ใช้ที่มีความแตกต่างออกไปจากที่พบในงานวิจัยกระแสหลักทั่วไป กล่าวคืองานเหล่านี้เริ่มมีการใช้เครื่องมือและวิธีการวิจัยที่วางอยู่บนกระบวนทัศน์แบบองค์รวม ให้ความสําคัญกับความจริงแบบอัตวิสัยมากขึ้น เน้นการกลับมาตระหนักรู้ในตนเอง ตระหนักรู้ในบริบท เปิดช่องทางการรับรู้อย่างหลากหลายรอบด้าน และอาศัยท่าทีของการดํารงอยู่ร่วมด้วยคุณภาพใจแบบใหม่ เช่นการเคารพรู้คุณในสรรพสิ่ง นอกจากนี้ การทํางานวิจัยแนวนี้เริ่มมีท่าทีของการคลายตัวออกจากการยึดถือเอาแนวคิดทฤษฎี สมมุติฐาน เป้าหมายและผลลัพธ์ของการวิจัยเป็นตัวตั้ง ข้อค้นพบจากโครงการนี้สามารถยังประโยชน์ต่อยอดไปสู่การพัฒนาต้นแบบระเบียบวิธีวิจัยแบบ Spirituality ที่จะมีความสอดคล้องกับบริบทการแสวงหาความรู้ของสังคมไทยได้ต่อไป


คําสําคัญ : สุขภาวะทางปัญญา, วิธีวิทยา, กระบวนทัศน์องค์รวม, จิตวิญญาณ, การวิจัยเอกสาร

Back To Top