ดำเนินการเสร็จแล้ว
ดร.สุปรียส์ กาญจนพิศศาล
โครงการวิจัยประจำปี : 2560
ชื่อโครงการวิจัย : โครงการจากใจสู่ใจ : นวัตกรรมการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงภายในเพื่อการปฏิรูปภายนอกของผู้ต้องขัง
หัวหน้าโครงการ : ดร.สุปรียส์ กาญจนพิศศาล
นักวิจัยร่วม : คณะทำงานในพื้นที่เชียงใหม่ : นางสาวอวยพร สุธนธัญญากร, นางสาววิจิตร ว่องวารีทิพย์, นางสาวรัชนี วิศิษฏ์วโรดม, นางสาวนภา ธรรมทรงศนะ และนางสาววิจิตรา เตรตระกูล คณะทำงานในพื้นที่ขอนแก่น : นางมัลลิกา ตั้งสงบ, นางสาววรรณา จารุสมบูรณ์, นายจรายุทธ สุวรรณชนะ, นายวัฒนชนม์ คงทน, นางสาวสุวรรณนภา คำไร และนางสาววรนุช จันทบูรณ์
ประเภทของโครงการ : โครงการบริการวิชาการ
ปีงบประมาณ : 2560
แหล่งเงินทุน :
งบประมาณ แผ่นดิน : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
![]() |
|
โครงการจากใจสู่ใจ: นวัตกรรมการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงภายในเพื่อการปฏิรูปภายนอกของผู้ต้องขัง ภายใต้การจัดทำกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีวัตถุประสงค์ คือ 1) พัฒนาคุณภาพชีวิตและมิติด้านในของสตรีต้องขังและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้เกิดสุขภาวะทางปัญญา ความมั่นคงภายใน มีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เกิดสัมพันธภาพและความเข้าใจ ต่อระบบบนหนทางแห่งความสุขและการเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น 2) ร่วมมือกับสำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ ขยายผลการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เพื่อฟื้นฟูจิตใจและเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ (Empowering) ให้ทำงานได้อย่างมีความสุข มีความเข้าใจมุมมองเชิงสังคม และสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตและการทำงานได้ 3) สร้างเครือข่าย ระบบ กลไกในการทำงานร่วมกันระหว่างเรือนจำในภาคนั้น ๆ และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสตรีต้องขังและองค์กรในพื้นที่ที่สนใจทำงานกับสตรีผู้ต้องขัง เพื่อขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกัน โดยเน้นที่พื้นที่เรือนจำกลางขอนแก่นเป็นหลัก และ 4) ขยายผลการเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูจิตใจผู้ต้องขังออกสู่เรือนจำอื่นๆ เช่น เรือนจำสวรรคโลก (แดนหญิง) ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก และพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรในการจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูจิตใจ สร้างความเข้มแข็งทางใจ ให้แก่ผู้ต้องขังกลุ่มเฉพาะที่สอดคล้องกับนโยบายของกรมราชทัณฑ์และตรงตามสถานการณ์ปัญหาของเรือนจำ ผลการดำเนินโครงการพบว่าผู้บริหารของ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรือนจำอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และเรือนจำกลางขอนแก่น เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลเยียวยาจิตใจและฟื้นฟูศักยภาพภายในของผู้ต้องตามแนวนโยบายของกรมราชทัณฑ์จึงมีส่วนช่วยในการสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของโครงการฯ เป็นอย่างดี อีกทั้งกระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษายังช่วยให้ผู้ต้องขังเกิดความตระหนักรู้ในตนเอง เข้าใจตนเอง เกิดสติและสมาธิ และรับฟังกันมากขึ้น และพบว่ากลุ่มผู้ต้องขังแกนนำได้กลับมาตระหนักถึงว่าความสุขแท้เกิดจากความมั่นคงของจิตใจ การเห็นคุณค่าในตนเองและการช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีความสุข รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและมุมมองของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อผู้ต้องขังจนนำไปสู่ความเข้าใจและเกื้อกูลกันมากขึ้น นอกจากนี้ คณะทำงานพบว่าการที่จะนำหลักสูตรเข้าไปใช้ในแต่ละเรือนจำจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เข้ากับบริบทการทำงานและเห็นควรที่จะมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่เรือนจำต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในการทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงมิติจิตใจของผู้ต้องขังร่วมกัน การสร้างแกนนำผู้ต้องขังรุ่นใหม่ การจัดการองค์ความรู้ การสื่อสารสาธารณะ และการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยในพื้นที่เรือนจำกลางขอนแก่น การผลักดันให้ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เป็นเรือนจำต้นแบบสุขภาวะ ตลอดจนการขยายผลไปยังเรือนจำจังหวัดอื่นๆ และการสร้างภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและความยั่งยืนในงานพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีต้องขัง
คำสำคัญ : ผู้ต้องขัง, จิตตปัญญาศึกษา, กระบวนการเรียนรู้, การเปลี่ยนแปลงมิติภายใน |