เมื่อจิตตปัญญาศึกษาผลิบาน ในห้องเรียนพยาบาลที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

  • 20 พฤษภาคม 2568

 

เมื่อจิตตปัญญาศึกษาผลิบาน ในห้องเรียนพยาบาลที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

     ผ่านไปสดๆร้อนๆกับเวทีจิตตปัญญาเสวนา ครั้งที่ 85 และเวทีเสวนาหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษา “เมื่อจิตตปัญญาศึกษาผลิบาน ในห้องเรียนพยาบาลที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์” ที่จัดขึ้นทางออนไลน์และมีถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊กศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา

     เวลา 2 ชั่วโมงของการเสวนาผ่านไปอย่างรวดเร็วและเต็มอิ่มแบบอยากขอต่อเวลาเพิ่ม เป็นช่วงเวลาสั้นๆที่ทำให้เข้าใจ เห็นภาพชัดเจนว่า ‘ครู’ สำคัญมากขนาดไหนในห่วงโซ่การศึกษา และการบ่มเพาะคุณภาพภายในของครูเป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรกที่สำคัญอย่างยิ่งและไม่ควรถูกมองข้าม

 

เด็กไม่ได้เป็นอย่างที่ครูสอน แต่เด็กเป็นอย่างครูเป็น

     ประโยคข้างต้นมาจาก อาจารย์ตุ๊กตา - รัชนี วิศิษฎ์วโรดม ผู้ดำเนินรายการเสวนา และอาจารย์ “สอนนอกกรอบ: ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริการวิชาการ “หยั่งรากจิตตปัญญาฯ สู่สังคมสุขภาวะ” ที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล นำแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเข้าไปทำให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรในหน่วยงานต่างๆ รวมถึงวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี

      เสวนาครั้งนี้เป็นการสกัดความรู้มาเล่าสู่กันฟัง ผ่านการแชร์ประสบการณ์ตรงของอาจารย์พยาบาล 3 ท่าน คือ อาจารย์เก่ง - ผศ.ดร.ปิยพงศ์ สอนลบ สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชชนนี พุทธชินราช, อาจารย์มร - อ.ดร.ทัศนีย์ ทิพย์สูงเนิน สาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชชนนี นครราชสีมา และ อาจารย์จุ๊ - ผศ.ดร.จามจุรี แซ่หลู่ รองผู้อำนวยกรด้านวิชาการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชชนนี นครศรีธรรมราช โดยมี อาจารย์เหมียว - อ.ดร.อริสา สุมามาลย์  ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล ร่วมนำเสนอองค์ความรู้จากงานวิจัยเกี่ยวกับโครงการนี้ด้วย

 

จากครูมือใหม่ สู่ครูหัวใจใหม่

    อาจารย์เก่ง - ผศ.ดร.ปิยพงศ์ สอนลบ เปิดเวทีว่า หลังจากทำหน้าที่พยาบาลห้องฉุกเฉินมากว่า 10 ปี ก็เริ่มบทบาทการเป็น “อาจารย์พยาบาล” และได้เป็นตัวแทนหน่วยงานมาเรียนในโครงการ “สอนนอกกรอบฯ” ทำให้อาจารย์พยาบาลมือใหม่คนนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเอง ทั้งมุมมองในการดูแลคนไข้และการมีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษา จากเดิมที่สอนนักศึกษาตามตำราหรือตามคู่มือปฐมนิเทศอาจารย์ใหม่ ยึดหลักการปฏิบัติการพยาบาลอย่างดี หรือ Direct Care เป็นสรณะ ก็เปลี่ยนเป็นเกิดความเข้าใจใหม่ เห็นว่า Direct Care อย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ควรพิจารณาให้ครอบคลุมทุกบริบทของคนไข้ด้วย รวมถึงทำตัวเองให้เป็นโมเดลหรือแบบอย่างของนักศึกษา เมื่ออาจารย์เก่งเรียนจบ 2 Module แรก คือ การตระหนักรู้ในตนเองและผู้อื่น (Self-Awareness & Other-Awareness) และ การเชื่อมโยงตนเองกับธรรมชาติสู่การตระหนักรู้ต่อสังคม (Nature Connection & Social Awareness) ก็ตัดสินใจนำกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในการจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาก่อนเปิดภาคเรียน และได้เริ่มจัดห้องเรียนภาคปฏิบัติพยาบาลกลุ่มย่อย ๆ ที่เชื่อมโยงเนื้อหาความรู้กับหัวใจ แถมยังทำงานวิจัยเพื่อประเมินผลที่เกิดขึ้นด้วย ปรากฏว่าได้เสียงตอบรับที่ดี นักศึกษาหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันพร้อมรอยยิ้มว่าสามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ดีขึ้น ไม่ตัดสินผู้ป่วย

     อาจารย์เก่งเล่าว่า “รู้สึกดีที่ได้ลองใช้กระบวนการนี้ ได้รู้ว่า นศ. กังวลกับความคาดหวังของครู ผู้ป่วย และญาติ อึดอัดกับบรรยากาศในหอผู้ป่วย สำหรับตัว นศ.จากที่ไม่กล้าไม่รู้จะเริ่มคุยกับคนไข้อย่างไร ก็เปลี่ยนเป็นกล้าพูดคุย ตั้งใจ และรับฟังความรู้สึกของผู้ป่วยซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ส่วนตัวเองเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ไม่รู้ว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ทุกครั้งที่ได้ร่วมเรียนกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษาจะรู้สึกว่าได้พลังงาน ได้คำตอบ ได้การเติมเต็ม”

     จากนักเรียนในโครงการสอนนอกกรอบฯ ของจิตตปัญญาศึกษาในปี 2561 วันนี้อาจารย์เก่งกำลังจะก้าวสู่การเป็นอาจารย์ที่ส่งต่อเมล็ดพันธุ์จิตตปัญญาสู่คนรุ่นต่อไป “ต่อจากนี้กำลังจะนำจิตตปัญญาศึกษาเข้าสู่การเรียนการสอนในหอผู้ป่วย และเป็นหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษาอย่างจริงจังในแพทย์ทางเลือก” อาจารย์เก่งเล่าพร้อมระบายยิ้มกว้าง

 

ความเปลี่ยนแปลงภายในครู สู่ห้องเรียน และพลังของผู้ป่วย

     ด้านอาจารย์มร - อ.ดร.ทัศนีย์ ทิพย์สูงเนิน เล่าว่าเริ่มสนใจแนวทางจิตตปัญญาศึกษาเพราะได้ยินจากผู้บริหารเล่าให้ฟัง เมื่อมีโอกาสจึงเอาตัวเองเข้าไปเรียนรู้โดยเข้าร่วมโครงการ “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) หยั่งรากจิตตปัญญาฯ สังคมแห่งความสุข” ในปี 2563 จึงพบว่าจิตตปัญญาศึกษามีความเชื่อมโยงกับความรู้ความสนใจเดิม นั่นคือ จิตวิทยาและธรรมะ จึงเปิดใจรับจิตตปัญญาศึกษาเข้ามาใช้แก้ทุกข์ทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงาน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในที่อาจารย์มรเรียกว่า “เกิดความสุขและความงอกงาม”

     อาจารย์มรขยายความให้เห็นภาพชัดด้วยการเปิดสไลด์ before – after ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากภายใน (ที่หากไม่สังเกตดีๆอาจไม่ทันเห็น) สู่การเปลี่ยนแปลงภายนอก (การกระทำที่เห็นได้ชัดเจน) เช่น จากเดิมเชื่อว่าครูเก่งกว่าศิษย์ ไม่สนใจความคิดและความรู้สึกของศิษย์ นศ.ต้องตั้งใจเรียนและฟังเวลาครูสอน (สิคะ!!!) เปลี่ยนเป็นเชื่อว่า นศ. มีศักยภาพในการเรียนรู้ สามารถแลกเปลี่ยน แสดงความคิดความรู้สึก และมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนได้ ทำให้บรรยากาศการเรียนที่ตึงเครียดเปลี่ยนเป็นผ่อนคลาย ปลอดภัย และเอื้อต่อการเรียนรู้  หรือจากเดิมที่เน้นสอนความรู้ตามตำรา ก็ประยุกต์ใช้ความรู้จากประสบการณ์ เปลี่ยนคำตำหนิเป็นคำแนะนำ ทำให้ความเครียด เบื่อ เหนื่อยล้าของครู และอาการหมดพลังของ นศ. กลายเป็นทั้งครูทั้งเด็กมีความสุข มีความรัก ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พบความสมดุลของความรู้ในวิชาชีพและจิตวิญญาณของผู้เรียน

     “เมื่อเด็กมีพลัง เขาจะใฝ่รู้มากกว่าที่เราคาดหวัง มอบหมายงานไปเขาจะพยายามอย่างมาก ถ้าเห็นว่ายังไม่ดีก็จะขอทำใหม่ ส่งใหม่ และพบว่า Reflection หรือการสะท้อนความคิด สรุปการเรียนรู้เป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้เกิดความรู้ เข้าใจตัวเอง ให้เขาเกิดประสบการณ์ตรง นี่คือความสำคัญของจิตตปัญญาศึกษา”

     อาจารย์มรเล่าถึงรูปธรรมของความเปลี่ยนแปลงจากภายในสู่ภายนอกที่ชัดเจนว่า “ผลจากงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์ที่ทำพบว่า ผู้ป่วยบอกว่าพยาบาลที่เข้าใจและรับฟัง ทำให้เขามีพลังในการต่อสู้กับโรคได้” ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากภายในตัวครู ส่งผลต่อการเรียนการสอน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียน และเกิดผลดีต่อตัวผู้ป่วยได้ในที่สุด

     นอกจากนี้ อาจารย์มรยังพัฒนา “นวัตกรรมรูปแบบการสอนให้ผู้เรียนเกิด Transformative Learning เพื่อพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักศึกษาพยาบาลโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา” ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดผลงานการจัดการความรู้ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ปี 2568 อีกด้วย

 

กลัดกระดุมเม็ดแรกที่การเปลี่ยนแปลงภายใน สู่พยาบาลที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

    อาจารย์จุ๊ - ผศ.ดร.จามจุรี แซ่หลู่ เล่าว่าก่อนหน้านี้เคยได้ยินเกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษาว่าเรียนแล้วมีความสุข จึงลองหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งไม่เข้าใจ จึงคิดว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก จนกระทั่งได้เข้ารับการอบรมในโครงการหยั่งรากจิตตปัญญาฯ ในปี 2564 ความเข้าใจเปลี่ยนไปทั้งหมดเพราะรู้สึกมีความสุขกับการเรียนตั้งแต่ครั้งแรกและตั้งตารอที่จะได้เข้าเรียนอีก การเรียนผ่านกิจกรรมทำให้รู้ได้ด้วยตัวเองว่านี่ไม่ใช่เรื่องยาก

     “จิตตปัญญาศึกษาทำให้ได้เข้ามาดูใจ อารมณ์ ความรู้สึกตัวเอง ทำความเข้าใจมัน เท่าทันกับอารมณ์ที่เปลี่ยน จากเมื่อก่อนถ้าเด็กทำผิดพลาด จะตำหนิ ถ้าพูดซ้ำหรือสอนหลายครั้งก็จะโกรธ โมโห ตอนนี้ถ้าโกรธก็รู้ตัวว่าโกรธ แต่จะไม่แสดงท่าทางโมโห ไม่พูดตำหนิ ไม่แม้แต่ส่งสายตาตำหนิ เพราะรู้แล้วว่าใจของเราส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออก”

     อาจารย์จุ๊ยกตัวอย่างเครื่องมือหรือแนวทางจิตตปัญญาศึกษาที่ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลง “อันแรกคือ Deep listening หรือฟังอย่างตั้งใจ เมื่อก่อนฟังเนื้อหา ในหัวก็คิดไปว่าสิ่งที่เขาพูดผิดหรือถูก ถ้าสงสัยก็เบรกเขาและถามขึ้นมาทันที แต่พอเรียนทำให้เปลี่ยนคือ ฟังเข้าไปถึงความรู้สึก ให้คนพูดรู้ว่าเราตั้งใจฟังจริงๆ ไม่ตัดสินถูกผิด ไม่ถามแทรก ทันกับอารมณ์ตัวเอง เช่น รู้ทันว่าตอนนี้อารมณ์ไม่ดีแล้ว และอีกอันเรียกว่า “กงล้อ 4 ทิศ” คือเปรียบเทียบบุคลิกลักษณะคนกับสัตว์ 4 ชนิด ทำให้รู้จักตัวเองและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ได้รู้ว่าการรับรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็ต้องสอนให้เหมาะกับ นศ. แต่ละคน”

     ตรงนี้เองทำให้อาจารย์จุ๊วางเป้าหมายของการเรียนการสอนว่า “สิ่งสำคัญคือทำให้ นศ. มั่นใจในการปฏิบัติต่อผู้ป่วย ไม่เครียด และมีความสุขกับการเรียน อาจารย์เองก็มีความสุขกับการสอน จึงเกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ‘การจัดการเรียนการสอนแบบสถานการณ์จำลองเสมือนจริง: สอนด้วยใจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง’ โดยบูรณาการแนวทางจิตตปัญญาศึกษา เริ่มตั้งแต่การ Check in ให้ นศ. บอกความรู้สึกตัวเองเพื่อพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป ในขั้นสถานการณ์จำลอง ครูไม่ตำหนิเมื่อเกิดความผิดพลาด แต่คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจ ให้ นศ. สรุปสิ่งที่ปฏิบัติและจะทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไปได้อย่างไร โดยครูคอยฟังอย่างตั้งใจ โมเดลนี้ทำให้แม้มีเวลาฝึกน้อย แต่กลับได้คุณภาพมาก นศ. ผ่านการประเมินทุกคน บรรลุผลเกินเป้าหมายคือ นอกจากจะมั่นใจ ไม่เครียดแล้ว ยังภาคภูมิใจและได้แนวทางการพัฒนาตนเองต่อไป มีสติ และสามารถสื่อสารกับผู้ป่วยอย่างนุ่มนวลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์”

     สิ่งที่อาจารย์จุ๊ทำ แสดงให้เห็นว่าจุดเริ่มต้นเล็กๆที่ยิ่งใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงภายในของครู อันเป็นเรื่องนามธรรม กลับจับต้องได้และเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ปฏิบัติในห้องเรียนได้จริง นำไปสู่การสร้างพยาบาลคุณภาพที่ให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน

     ความงอกงามและผลิบานของจิตตปัญญาศึกษาในอาจารย์พยาบาลยังมีอีกมากมาย จึงเกิดงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้วยจิตตปัญญา ศึกษา: กรณีศึกษาโครงการสอนนอกกรอบ: ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน สำหรับอาจารย์ในกลุ่มวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สถาบันพระบรมราชชนก” หัวหน้าโครงการวิจัยคือ ดร.ศักดิ์ชัย อนันต์ตรีชัย

 อาจารย์เหมียว - อ.ดร.อริสา สุมามาลย์ ซึ่งร่วมเป็นคณะนักวิจัยเล่าสรุปว่า จากการสัมภาษณ์อาจารย์ในโครงการสอนนอกกรอบฯ 24 ท่าน พบว่าใจความสำคัญที่การเปลี่ยนแปลงภายในครูส่งผลต่อการเรียนการสอนในห้องเรียนพยาบาล สอดคล้องกับการแชร์ประสบการณ์ของทั้งอาจารย์เก่ง อาจารย์มร และอาจารย์จุ๊ นั่นคือ

  1. การเปลี่ยนมุมมองความคิดของครู เข้าใจว่าธรรมชาติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เปลี่ยนจากเคร่งเครียดสู่ผ่อนคลาย กลัวสู่กล้า ยึดแต่ตำราสู่การใช้ความรู้สึก
  2. การเห็นอารมณ์ เท่าทันตัวเองของครู ทำให้ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น มีสติ ลดการปะทะ เหมือนมีเบรกในตัวเอง
  3. ครูผ่อนคลายความเครียดและฟื้นพลังได้จากการสร้างความมั่นคงภายใน
  4. ครูขยายพื้นที่ในใจด้วยการรับฟัง เพราะการฟังเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ ทักษะการฟังของครูส่งต่อไปยังศิษย์ ทำให้รู้จักฟังผู้ป่วยมากขึ้น เป็นคุณภาพที่ขยายไปสู่ผู้รับบริการได้ในที่สุด

     ถึงตรงนี้ เสียงอาจารย์ตุ๊กตาดังขี้นมาอีกครั้งในความรู้สึก “เด็กไม่ได้เป็นอย่างที่ครูสอน แต่เด็กเป็นอย่างครูเป็น”... เป็นความชัดเจนและสว่างจ้าของนามธรรมที่จับต้องได้ จิตตปัญญาศึกษาไม่ใช่เทคนิคการสอนที่เป็นขั้นตอนตายตัว แต่เป็นการบ่มเพาะคุณภาพภายในของครู พัฒนาสุขภาวะทางปัญญาในระบบการศึกษา มุ่งหมายขยายใจผู้เรียนและผู้สอนให้กว้างมากขึ้น มากพอที่จะโอบรับตนเอง ผู้ป่วย ญาติ และคนอื่นๆให้อยู่ในหัวใจที่ดีงามนั้นได้

สามารถติดตามอ่านงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้วยจิตตปัญญาศึกษา :
กรณีศึกษาโครงการสอนนอกกรอบ : ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน สำหรับ
อาจารย์ในกลุ่มวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสถาบันพระบรมราชชนก โดยดร.ศักดิ์ชัย อนันต์ตรีชัย และดร.อริสา สุมามาลย์

ได้ที่http://www.ce.mahidol.ac.th/album/knowledge/

 

 

Back To Top