รู้จักจิตปัญญาศึกษา

เกี่ยวกับศูนย์

กระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ
การศึกษาที่เน้นการพัฒนาด้านในอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ
โดยปราศจากอคติ เกิดความรักความเ

รู้จักจิตตปัญญาศึกษา

คือองค์กรการศึกษา ที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้และการปฏิบัติด้านจิตตปัญญาและการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ในมิติและบริบทที่หลากหลาย จากอดีตที่ผ่านมา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษาทำงานร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการ นักปฏิบัติ นักขับเคลื่อนสังคม และผู้สนใจใฝ่เรียนรู้ทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้แนวคิดและการปฏิบัติด้านจิตตปัญญาแพร่ขยายไปสู่วงกว้าง อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวม

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2549 โดยถือกำเนิดขึ้นมาจากความร่วมมือของเครือข่ายนักปฏิบัติและผู้สนใจในแนวทางจิตตปัญญา อันประกอบด้วยนักวิชาการ นักปฏิบัติ และนักขับเคลื่อนสังคม

ผู้ซึ่งได้นำวิถีแบบจิตตปัญญาไปใช้ในการขับเคลื่อนงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น การสอนในชั้นเรียน การฝึกอบรมให้กับสมาชิกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน การทำงานในเชิงเยียวยา หรือการผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ เครือข่ายดังกล่าวนี้เชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่สถาบันการศึกษาในกระแสหลักของประเทศจะได้ก่อตั้งองค์กรภายในเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่และพัฒนาองค์ความรู้และวิถีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญา ผ่านการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา และการจัดกิจกรรมเชิงวิชาการในรูปแบบต่างๆ อาทิ การจัดอบรมสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมวิชาการประจำปี ซึ่งทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นที่มาของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

กระบวนการเรียนรู้และวิถีปฏิบัติที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษาล้วนมุ่งเน้นการปลุกให้ปัจเจกบุคคลเกิดความตื่นรู้ บนฐานของการภาวนาและการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง แนวทางการปฏิบัติประกอบไปด้วยกิจกรรม อาทิ การเจริญสติในรูปแบบต่าง ๆ สุนทรียสนทนา การเคลื่อนไหวร่างกาย การทำงานศิลปะและกระบวนการสร้างสรรค์ ซึ่งล้วนถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของทั้งผู้เรียนและผู้สอน ในการสืบค้น เรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอและผู้อื่น รวมไปถึงสัมพันธภาพระหว่างบุคคล องค์กร และสังคมวงกว้าง เป้าหมายของการศึกษาที่นี่คือ การบ่มเพาะ สร้างเสริมทักษะและองค์ความรู้ให้แก่นักปฏิบัติและนักการศึกษาในบริบทต่างๆ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เรียน ให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพภายในของตนเอง ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถในเชิงวิชาชีพ

เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งต่อตนเอง ผู้อื่นและสังคม ปัจจุบัน ผลงานของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในวงการการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนมีที่มาจากปณิธานของศูนย์ฯ ในการยกระดับสุขภาวะของคนในสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

คณาจารย์ของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา

ประกอบด้วยนักวิชาการจากหลากหลายสาขาและความเชี่ยวชาญ อาทิ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นิเวศน์วิทยา เศรษฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ จิตวิทยา ศิลปกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ สื่อสารมวลชน ศาสนศึกษาและปรัชญา ทุกคนล้วนมีความมุ่งมั่นในการจัดการศึกษาและเผยแพร่องค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติด้านจิตตปัญญา เพื่อให้ผู้เรียนและผู้สนใจได้ค้นพบศักยภาพที่แท้ภายในตนเอง และสามารถพัฒนาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมต่อไป ไม่เพียงแต่เฉพาะคณาจารย์ของศูนย์ฯ ที่มีความแตกต่างหลากหลายในเชิงวิชาชีพและความเชี่ยวชาญ นักศึกษาในหลักสูตรมหาบัณฑิตของศูนย์ฯ จากอดีตจนถึงปัจจุบันก็ล้วนมีที่มาและประสบการณ์ด้านวิชาชีพที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน อาทิ ครูอาจารย์ แพทย์ พยาบาล กระบวนกร ครูโยคะ วิศวกร นักประชาสัมพันธ์ นักเขียน นักสื่อสารมวลชน ผู้ประกอบการทางธุรกิจ การเรียนรู้จากความหลากหลายในเชิงประสบการณ์ชีวิตนี้เองที่ส่งผลให้ผู้จบการศึกษาจากหลักสูตรดังกล่าว สามารถก้าวไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จในชีวิตส่วนตัวและการงาน รวมทั้งสร้างคุณูปการมากมายแก่สังคม

นอกจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนแล้ว ศูนย์จิตตปัญญาศึกษายังผลิตงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างโครงการที่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ.2556

ประกอบด้วย โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาด้วยกระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญา (สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) โครงการศึกษาวิเคราะห์องค์ความรู้การขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญาในประเทศไทยและต่างประเทศ (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.) และโครงการจากใจสู่ใจ: คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.)

นับตั้งแต่การก่อตั้งศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา

ศูนย์ฯ ได้กลายเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า เผยแพร่ และปฏิบัติการด้านจิตตปัญญาศึกษาที่สำคัญของประเทศไทย ผลงานของศูนย์ เช่น ตำรา หนังสือ งานสัมมนา งานอบรม และงานประชุมวิชาการประจำปี ได้ปรากฏออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ศูนย์จิตตปัญญาศึกษาได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กร ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ อาทิ สถาบัน Mind & Life เสมสิกขาลัย สถาบันอาศรมศิลป์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) เป็นต้น ซี่งความร่วมมือดังกล่าวกำลังทยอยปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทยปัจจุบัน

Back To Top