โครงการวิจัยและจัดการความรู้จิตตปัญญาศึกษา

ดำเนินการเสร็จแล้ว

ดร.ชลลดา ทองทวี

  • 01 มกราคม 2551

 

โครงการวิจัยประจำปี : 2551

 

ชื่อโครงการวิจัย : โครงการวิจัยและจัดการความรู้จิตตปัญญาศึกษา


หัวหน้าโครงการ : ดร.ชลลดา ทองทวี

 

นักวิจัยร่วม :  ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร, ธีระพล เต็มอุดม, ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์, และ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ

 

ประเภทของโครงการ : โครงการวิจัย


ปีงบประมาณ : 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2550


แหล่งเงินทุน : 

 

ทุนภายนอก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

โครงการวิจัยและจัดการความรู้จิตตปัญญาศึกษา

     

       การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา โดยการรวบรวมประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ความรู้จากแหล่งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ สร้างฐานข้อมูลจิตตปัญญาศึกษาเกี่ยวกับบุคคล กลุ่มหรือองค์กร และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นฐานความรู้สนับสนุนการขับเคลื่อนงานจิตตปัญญาศึกษา รวมทั้งศึกษาหาประเด็นการวิจัยและสร้างแผนที่ลำดับความสำคัญของการวิจัย (Research Priority Mapping) ที่เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยและนักปฏิบัติด้านจิตตปัญญาศึกษา

        การศึกษาวิจัยได้ประมวลความรู้ตามบริบททางศาสนา บริบททางสังคมและวัฒนธรรม และบริบททางการศึกษา ครอบคลุม ๕ ประเด็นหลัก ได้แก่ ๑) ประวัติพัฒนาการแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง (History and Concepts) เพื่อศึกษาทำความเข้าใจประวัติพัฒนาการของการเรียนรู้พัฒนาด้านในในบริบทของยุคสมัยต่างๆ ที่ผ่านมา การผุดบังเกิดของแนวคิดและขบวนการจิตตปัญญาศึกษา และสังเคราะห์แนวคิด (concepts) หลักว่าด้วยจิตตปัญญาศึกษา ๒) เครื่องมือ กระบวนการ และการปฏิบัติเกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา (Practices and Tools) เพื่อศึกษาการพัฒนาดัดแปลงนำแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษาไปสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้และการปฏิบัติ ๓) แนวทางการประยุกต์ใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษาสู่วงการต่างๆ (Application in Various Fields) เพื่อศึกษาหาแนวทางการประยุกต์นำหลักการแนวคิด เครื่องมือ วิธีการ การปฏิบัติ และกระบวนการแบบจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในบริบทของวงการต่างๆ ๔) วิธีวิทยาการวิจัยทางจิตตปัญญาศึกษา (Research Methodology) เพื่อศึกษาวิธีวิทยาการวิจัยที่เหมาะสมสอดคล้องกับแนวคิดและการปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษา ๕) การประเมินสำหรับจิตตปัญญาศึกษา (Evaluation for Contemplative Education) เพื่อสำรวจและประมวลแนวคิดและตัวอย่างรูปธรรมของการประเมินผลทางการศึกษาที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา นำเสนอคุณลักษณะของผู้ประเมินและการประเมินที่เหมาะสมสำหรับจิตตปัญญาศึกษา 

        ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงการสำรวจ (Exploratory Research) โดยมีคำถามวิจัย ๒ ข้อ ได้แก่ ๑) องค์ความรู้หลักทางวิชาการของจิตตปัญญาศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาไทยมีอะไรบ้าง ๒) คุณลักษณะเฉพาะของจิตตปัญญาศึกษาเป็นอย่างไร คณะวิจัยได้สำรวจพรมแดนความรู้ผ่านการศึกษาเชิงเอกสารผ่านแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ การเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ และการประชุมพิจารณาจัดทำแผนที่ลำดับความสำคัญของงานวิจัย ตามแนวทางการศึกษาแบบบุคคลที่สามทั่วไป และยังได้เพิ่มเติมแนวทางการศึกษาแบบบุคคลที่หนึ่ง คือการเข้าไปมีประสบการณ์ตรงผ่านการปฏิบัติและเข้ารับการอบรมต่างๆ เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา และแนวทางบุคคลที่สอง คือการสร้างความเป็นผู้นำร่วมผ่านการสืบค้นอย่างมีส่วนร่วม และการจัดวงจิตตปัญญาสนทนา (Contemplative Research Dialogue--CoRDial)

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน คณะวิจัยได้จัดกลุ่มข้อมูลเพื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับการบ่มฟักข้อมูล (data incubation) ผ่านการพักผ่อนและการใช้ชีวิตนอกเหนือการงานวิจัย เพื่อให้เกิดการตกผลึกของข้อมูล และเปิดช่องทางให้กับญาณทัศนะในการผุดบังเกิดใหม่ขององค์ความรู้ งานวิจัยนี้ได้รับการตรวจสอบความน่าเชื่อถือจากการประชุมพิจารณาทบทวนโดยผู้ทรงคุณวุฒิเป็นระยะๆ ตลอดการวิจัย

        ผลจากการศึกษาครั้งนี้ได้ให้นิยามจิตตปัญญาศึกษาว่าหมายถึง “กระบวนการเรียนรู้และบริบทที่เป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลต่อองค์ประกอบหรือกระแสแห่งการพัฒนาจากจิตเล็กสู่จิตใหญ่ โดยหยั่งรากลงถึงฐานคิดเชิงศาสนา มนุษยนิยม และองค์รวมบูรณาการ”  คือจากจิตที่ยึดติดกับอัตตาตัวตนที่คับแคบ อึดอัดกับการมองโลกเป็นส่วนเสี้ยว สู่จิตที่ตื่นรู้ หยั่งรู้ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งเป็นองค์รวม มีความรักความเมตตา

        ในการสังเคราะห์ผลพบว่าสามารถนำเสนอคุณลักษณะเฉพาะของจิตตปัญญาศึกษาเป็น “จิตตปัญญาพฤกษา” ซึ่งประกอบด้วย ๘ ส่วน คือ ๑) ราก หมายถึงฐานแนวคิด ได้แก่ แนวคิดเชิงศาสนา เชิงมนุษยนิยม และเชิงบูรณาการองค์รวม  ๒) ผล หมายถึงเป้าหมายการเรียนรู้สู่จิตใหญ่ที่กว้างขวางครอบคลุมและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน  ๓) แก่น หมายถึงองค์ประกอบหรือกระแสแห่งการพัฒนาสู่จิตใหญ่ ได้แก่ การมีสติเปิดรับประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะอย่างเต็มเปี่ยม การสืบค้นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับตน การน้อมมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจัง ความเบิกบานและผ่อนคลาย และการมีจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง  ๔) กระพี้ หมายถึง บริบทของกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติ ได้แก่ สังฆะคือการให้คุณค่าต่อการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ และวัฒนธรรมคือการให้คุณค่าแก่รากฐานทางภูมิปัญญาที่หลากหลายและไม่แยกจากชุมชนท้องถิ่น  ๕) เปลือก หมายถึง เครื่องมือ การปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ของจิตตปัญญาศึกษา  ๖) เมล็ด หมายถึง ศักยภาพภายในของมนุษย์ทุกคน  ๗) ผืนดิน หมายถึง วงการต่างๆ ที่นำแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาไปประยุกต์ใช้ และ ๘) ความรู้ในการปลูกและดูแล หมายถึง การวิจัยสืบค้นความรู้ และการวัดประเมินสำหรับจิตตปัญญาศึกษา

การศึกษาวิจัยยังทำให้นักวิจัยได้เกิดการเรียนรู้ต่อชีวิตของตน เกิดความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาจากการได้มีประสบการณ์ตรง และการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ตลอดจนคณะวิจัยยังได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน ได้ตระหนักและศรัทธาในคุณค่าของการเป็นผู้นำร่วม (Collective leadership)

        ผลจากการจัดวงจิตตปัญญาสนทนา คือการได้สร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมในฐานะเครือข่ายนักวิจัยและนักปฏิบัติ โดยได้สืบค้นความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) และบันทึกไว้ (explicit knowledge) ด้วยกระบวนการปฏิบัติต่างๆ ในประเด็นว่าด้วยการสืบค้นตนเอง แผนที่จิต สภาวะจิต ประวัติศาสตร์แนวคิด รูปแบบการปฏิบัติ การวัดประเมิน แนวทางการประยุกต์ใช้ และการวิจัย  ผู้วิจัยพบว่าการจัดวงจิตตปัญญาสนทนาเป็นการหาสมดุลระหว่างวิชาการกับประสบการณ์ตรง และพบว่าผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมในกระบวนการมากขึ้นเป็นลำดับ

        นอกจากนี้ คณะวิจัยยังได้จัดทำแผนที่ลำดับความสำคัญงานวิจัย พบว่าโจทย์การวิจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการนำแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาไทย ได้แก่ การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ การวิจัยสำรวจองค์ความรู้และวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างระบบการวัดประเมินการเรียนและการทำงานในฐานะกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และความสุข การวิจัยพัฒนาอาจารย์ กระบวนกร และผู้จัดการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา การวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแก่นกับบริบทในลักษณะที่มีความหมายต่อชุมชน ตลอดจนการวิจัยศึกษาและพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่เป็นโครงสร้างรองรับจิตตปัญญาศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย

Back To Top