โครงการการบูรณาการรูปแบบ ทางเลือกของการนำศาสนธรรมเพื่อการ เสริมสร้างสุขภาวะทางสังคม ในการ ป้องกันความขัดแย้งมิให้แปลง เปลี่ยนเป็นความรุนแรง

ดำเนินการเสร็จแล้ว

ผศ.ปาริชาด สุวรรณบุบผา

  • 01 มกราคม 2554

 

โครงการวิจัยประจำปี : 2557

 

ชื่อโครงการวิจัย : โครงการการบูรณาการรูปแบบ ทางเลือกของการนำศาสนธรรมเพื่อการ เสริมสร้างสุขภาวะทางสังคม ในการ ป้องกันความขัดแย้งมิให้แปลง เปลี่ยนเป็นความรุนแรง


หัวหน้าโครงการ : ผศ.ปาริชาด สุวรรณบุบผา

 

นักวิจัยร่วม :  ดร.หิมพรรณ รักแต่งาม

 

ประเภทของโครงการ : โครงการวิจัย


ปีงบประมาณ : 1 ตุลาคม 2553 - 30 กันยายน 2556


แหล่งเงินทุน : 

 

ทุนภายนอก : เครือข่ายพุทธิกาเพื่อ พระพุทธศาสนาและ สังคม

 

โครงการการบูรณาการรูปแบบ ทางเลือกของการนำศาสนธรรมเพื่อการ เสริมสร้างสุขภาวะทางสังคม

ในการ ป้องกันความขัดแย้งมิให้แปลง เปลี่ยนเป็นความรุนแรง

   
      งานวิจัยเรื่อง ‘การบูรณาการรูปแบบทางเลือกของการนำศาสนธรรมเพื่อการเสริมสร้างสุขภาวะทางสังคมในการป้องกันความขัดแย้งมิให้แปลงเปลี่ยนเป็นความรุนแรง : กรณีศึกษาศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายสิรินธร ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุทิตา และโรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครปฐม’ มีวัตถุประสงค์ในการใช้กระบวนการสานเสวนาอันเป็นการฟังด้วยใจอย่างลึกซึ้ง เป็นกระบวนการในการสื่อสารคุณค่า และคำสอนทางศาสนาแก่เยาวชนผู้กระทำผิดและได้รับการตัดสิน ที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน รวมทั้งสถานบำบัดเยาวชนชายหญิงที่ติดสิ่งเสพติด งานวิจัยนี้จึงเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพที่ใช้การปฏิบัติโดยผ่านการฟัง การร่วมกิจกรรม การถอดบทเรียน การสะท้อนความรู้สึกและบทเรียนอย่างมีส่วนร่วมของเยาวชน และผู้เกี่ยวข้อง เช่น พ่อบ้าน ครู เจ้าหน้าที่ เป็นต้น
 
     ข้อค้นพบจากการศึกษาโดยผ่านกระบวนการสานเสวนา ได้รับทราบปัญหาด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนเยาวชนรวมทั้งครอบครัว และความกังวลในด้านกฎระเบียบของสถานที่ รวมทั้งปัญหาของเจ้าหน้าที่ในด้านภาระงานท่วมท้น  รวมทั้งวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของเยาวชน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการนำศาสนธรรมสู่เยาวชน   นอกจากนี้ งานวิจัยได้สะท้อนข้อเสนอในการสื่อศาสนธรรมและคุณค่าทางศาสนา ที่เป็นการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม โดยเน้น 1) การสอนโดยใช้ชีวิตจริงของผู้เข้าร่วมกระบวนการเป็นตัวตั้ง   2)เป็นการสอนโดยฝึกให้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลจากเรื่องราวที่ผ่านการฟังในกิจกรรมต่างๆ 3) เป็นการสอนในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย  4) การใช้ศิลปะเป็นสื่อในการแสดงอารมณ์ความรู้สึก เพื่อการเรียนรู้คุณค่าได้มากขึ้น  5) การสอนแทรกการฝึกสมาธิเจริญสติในการร่วมกิจกรรมต่างๆ  6) การใช้สื่อและฟังเรื่องเล่า  7) การใช้รูปแบบการฟังตนเองและผู้อื่น โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง การนำศาสนธรรมเพื่อให้เกิดสุขภาวะทางสังคม เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ในกระบวนการสานเสวนานั้นมีหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่  1) การทำความเข้าใจผู้เรียน (ผู้ร่วมกระบวนการ) ตามเงื่อนไขปัจจัยของผู้เรียน  2) การเชื่อมโยงศาสนธรรมเข้ากับประเด็นชีวิตของผู้เรียน  3) การให้โอกาสผู้เรียนในการแตะสัมผัสจิตใจของตนเอง มากกว่าเพียงการสอนศีลธรรมและจริยธรรม และ  4) การสร้างความเชื่อมั่นในพลังแห่งสังฆะหรือชุมชน โดยชุมชนนั้นหมายรวมถึง เยาวชน ผู้บริหาร ครู เจ้าหน้าที่ทุกระดับในศูนย์ฝึก
 
     ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ การบรรจุแนวทางเลือกการนำศาสนธรรมโดยผ่านกระบวนการสานเสวนาในการเรียนรู้ร่วมกันในนโยบายของกระทรวงยุติธรรม กรมพินิจ กรมราชทัณฑ์ และศูนย์ฝึกเยาวชนทุกแห่ง  อย่างไรก็ตาม กระบวนการเช่นนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ซึ่งในงานวิจัยนี้ ยังไม่อาจรวมการมีความพร้อมของครอบครัวและชุมชนของเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดได้ นั่นหมายถึง การถนอมเลี้ยง ความต่อเนื่องของการใช้กระบวนการสานเสวนา ให้อยู่ “เนื้อในตัว” เป็นปกติ ให้ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งเยาวชน เจ้าหน้าที่ ครอบครัว และชุมชนนั่นเอง
 
 
Back To Top