เริ่มต้นเมื่ออวสาน: การเติบโตด้านในของเยาวชนผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย

ดำเนินการเสร็จแล้ว

ดร.สุปรียส์ กาญจนพิศศาล

  • 01 มกราคม 2557

 

โครงการวิจัยประจำปี : 2557

 

ชื่อโครงการวิจัย : เริ่มต้นเมื่ออวสาน: การเติบโตด้านในของเยาวชนผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย


หัวหน้าโครงการ : ดร.สุปรียส์ กาญจนพิศศาล

 

นักวิจัยร่วม :  ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร และ ดร.สมสิทธิ์ อัสดรนิธี

 

ประเภทของโครงการ : โครงการวิจัย


ปีงบประมาณ : 2557


แหล่งเงินทุน : มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ทุนภายนอก : 

 

เริ่มต้นเมื่ออวสาน: การเติบโตด้านในของเยาวชนผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย

      โครงการเริ่มต้นเมื่ออวสาน : การเติบโตด้านในของเยาวชนผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenological research) โดยทำการเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคล การสนทนากลุ่ม และการจดบันทึกประจำวันของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้จากการได้ลงไปทำงานจิตอาสาเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายด้วยตนเอง โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือเพื่อศึกษาการเติบโตด้านในของเยาวชนผ่านการปฏิบัติดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและเพื่อศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายจากประสบการณ์ตรงของเยาวชนที่เข้าร่วมกระบวนการ
 
       ผลของการวิจัยพบว่า 6 ปัจจัยหลักที่เอื้อให้เกิดการเติบโตด้านในของเยาวชนจากการปฏิบัติดูแลผู้ป่วยระยะท้าย คือ 1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ๒. การพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (Contemplation) 3. แสวงหาความรู้และลงมือปฏิบัติการ (Acquiring knowledge and taking action) 4. การมีเจตจำนงที่มุ่งมั่น (Intention) 5. การฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต (The continuing of practices until it becomes a part of one life) และ 6. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Sharing and Learning) จนนำไปสู่การบูรณาการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเข้าสู่วิถีชีวิตของตน และขยายผลสู่การอุทิศตัวช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคม ยิ่งไปกว่านั้น องค์ความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ตรงของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างแนวทางการดูแลผู้ป่วยในมิติด้านจิตใจและจิตวิญญาณที่เหมาะสมต่อการนำพาผู้ป่วยไปสู่ความตายอย่างสงบ โดยผู้วิจัยสามารถสรุปออกมาเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การฟังอย่างลึกซึ้ง ผ่านท่าทีของการเป็นผู้ฟังที่ดีและการเตรียมกายและใจให้พร้อมก่อนการรับฟัง และ 2) การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อความสงบใจด้วยการงดเว้นการพูดคุยที่รบกวนผู้ป่วย งดเว้นการทะเลาะเบาะแว้งและการถกเถียงกันต่อหน้าผู้ป่วย งดเว้นการร้องไห้ฟูมฟายหรือการคร่ำครวญต่อหน้าผู้ป่วยและการระมัดระวังคำพูดและท่าทีที่มีต่อผู้ป่วย โดยอุปสรรคของการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ เวลาที่ไม่สอดคล้องกันของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการกับผู้ป่วย สภาพความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยและญาติ และสภาวะที่ต่างฝ่ายต่างนิ่งเงียบที่ไม่รู้จะพูดคุยอะไรกัน (Dead air) 
 
        ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยในครั้งต่อไป คือ การปรับระยะเวลาในการลงเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายตามความเหมาะสมกับตารางการจัดการเรียนการสอน การเปิดโอกาสให้พยาบาลในผู้หอผู้ป่วยได้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนร่วมกัน และการขออนุญาตความยินยอมจากผู้ป่วยและญาติในการเข้าร่วมโครงการด้วยวิธีการสื่อสารและชี้แจงรายละเอียดข้อมูลผ่านทางวาจาแทนการลงนามในเอกสาร เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสภาวะจิตใจแก่ผู้ป่วย ญาติและผู้ดูแลใกล้ชิด ในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งรับทราบจากเอกสารว่าตนเองเป็นผู้ป่วยระยะท้าย รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เชิญชวนให้ผู้เกี่ยวข้องกับการออกแบบหลักสูตรด้านสายการแพทย์และสายสังคมศาสตร์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับงานกิจการนักศึกษาคำนึงถึงการออกแบบกิจกรรมจิตอาสาที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านจิตใจของเยาวชนผ่านการเรียนรู้ชีวิตและความตาย
 
 
คำสำคัญ : การเติบโตด้านใน การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การวิจัยแนวปรากฏการณ์วิทยา
 
 
Back To Top