บทความ "จิตตปัญญาพาอ่าน" #4 “ความฝันในวัยเด็ก อาชีพ และระบบการศึกษาในปัจจุบัน”

เดโช นิธิกิตตน์ขจร

  • มิรา เวฬุภาค
    ชัชฐพล จันทยุง
    กรกนก สุเทศ
  • 27 ตุลาคม 2564

บทความนี้มีที่มาจากช่วงที่ Application Club House กำลังได้รับความนิยม เป็น App ที่คนส่วนใหญ่ต่างให้ความสนใจในการเข้าไปฟังและแบ่งปันความคิดเห็นเรื่องต่างๆ อย่างมากมาย

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ท่องไปในโลกของ Club House แล้วสายตากับปลายนิ้วก็หยุดลงเมื่อเห็นหัวข้อ “ความฝันในวัยเด็ก VS ระบบการศึกษาในปัจจุบัน” ซึ่งถูกตั้งโดยกลุ่มนักศึกษาแพทย์กลุ่มหนึ่ง ทันใดนั้นความถามหนึ่งก็ดังก้องภายในใจ “ความฝันในวัยเด็กของผมไปไหน?” ด้วยความสงสัยใคร่รู้ปลายนิ้วของผมจึงกดเข้าไปในห้องเพื่อไปฟังความคิดเห็นของน้อง ๆ นักศึกษา
    การแบ่งปันค่อนข้างออกรสออกชาติ น้อง ๆ ที่อายุน้อยกว่าผมเกินรอบมีการคิดการอ่านที่เรียกได้ว่า “โตเป็นผู้ใหญ่” มากกว่าสมัยผมตอนที่มีที่อายุรุ่นราวคราวนั้นเดียวกัน มีหลายคนที่ความฝันตกหล่ระหว่างทางเนื่องด้วยภาวะหรือบริบทที่แตกต่างของแต่ละคน มีหลายคนที่เริ่มกลับมาตั้งคำถามว่าความฝันของตนเองอยู่ตรงไหน และอีกหลายคนก็ยังไม่รู้ว่าตำแหน่งที่ตนเองมายืนอยู่ตรงนี้คือความฝันของตัวเองหรือเปล่า
    ระหว่างที่ฟังการแลกเปลี่ยนไปอย่างเพลิดเพลิน มุมหนึ่งในใจของผมกลับรู้สึกถึงความขัดแย้งว่า “ความฝัน ต้องเท่ากับ อาชีพ อย่างเดียวเท่านั้นหรือไม่ ? ความฝันเป็นอย่างอื่นได้หรือเปล่า ?” 
 
ความฝันในวัยเด็ก
    ผมอยากชวนผู้ที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า 
    “คำว่า อาชีพ มันเข้ามาในชีวิตของพวกเราตั้งแต่เมื่อไร ?” 
    สำหรับผม แรกเริ่มเดิมทีผมไม่มีคำว่าอาชีพอยู่ในหัวเลยเสียด้วยซ้ำ ไม่เคยมีคำว่า วิศวกร หมอ พยาบาล หรืออะไรก็ตาม แต่ถ้าถามว่า “ผมชอบทำอะไร ?” ผมกลับมีภาพที่ชัดเจน โดยที่ไม่เคยเรียกมันว่าอาชีพเลยสักครั้งเดียวด้วยซ้ำ 
    ภาพนั้นของผมคือภาพผมในสมัยเด็ก ผมที่กำลังล้อมวงกับเพื่อน ๆ พูดคุยถกเถียง หัวเราะ บางครั้งก็หัวร้อน ขณะที่กำลังเล่นเกมส์กระดานษที่เพื่อนสร้างไว้ กระทั่งจนวันหนึ่งผมผันตัวเองจากผู้เล่นไปเป็นผู้สร้าง คอยสร้างเงื่อนไขให้เพื่อน ๆ ได้สนุกเหมือนกับที่ผมเคยได้สัมผัส บรรยากาศในห้วงความทรงจำมันช่างสดใสและอบอุ่นภายในใจ ทุกครั้งที่ผมนึกถึง 
    ถ้ามองกันผ่านๆ ก็คงมองว่า ผมชอบทำสิ่งนี้ก็ควรจะไปทำอาชีพโปรแกรมเมอร์ นักสร้างเกมส์ และอื่น ๆ อีกมากมายเท่าที่สังคมโลกใบนี้จะกำหนดไว้ หรือบางคนอาจจะมองผมว่าไร้สาระก็เป็นได้ เพราะสิ่งที่ผมกล่าวถึงมันไม่สามารถทำเงินได้ในสายตาของคนบางคน
   แต่พอผมได้มองเข้าไปภายใต้ภาพที่ปรากฏในความทรงจำ ผมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และที่สำคัญทำให้ผมกับเพื่อน ๆ มีช่วงเวลาคุณภาพที่ไม่ใช่การคุยกันเรื่องเกมส์แต่ทำให้ต่างคนต่างเข้าใจ รู้จักกันมากขึ้น ผมรักที่จะได้เห็นช่วงเวลาเหล่านั้น ช่วงเวลาที่คนที่อยู่ตรงหน้าได้เติบโต รู้จักแก้ไขปัญหา เกิดมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
    ความฝันในวัยเด็กจึงอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปของอาชีพ แต่อยู่ในรูปของสิ่งที่ชอบทำ สิ่งที่ทำในวัยเด็กเรามักทำสิ่งที่ชอบโดยลืมเวลา และรู้สึกสุขทุกครั้งที่ได้ทำ
 
ระบบการศึกษาเพื่ออาชีพ
    พอผมกลับมามองในช่วงอายุที่ผ่านไป ความฝันที่ผมมีก็ดูจะจืดจางลง จนท้ายที่สุดมันก็ถูกเก็บเข้าไปอยู่ในซอกหลืบของความทรงจำ ไม่มีเวลาและโอกาสที่จะได้ไปแง้มมันออกดูอีกเลย กลับกันมีสิ่งที่เรียกว่า “อาชีพ” ค่อย ๆ เข้ามาสวมเสื้อที่เรียกว่าความฝันแทน จนในที่สุดเราก็เชื่อว่า “อาชีพ” ก็คือความฝัน 
    พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2555 นิยามคำว่า “อาชีพ” คือ “งานที่ทำเป็นประจำเพื่อเลี้ยงชีพ” ซึ่งเอาจริง ๆ จากนิยามเราจะเห็นได้ว่าตัวนิยามไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อน แต่ทว่า “อาชีพ” ที่ถูกใช้กันในสังคมกลับมีความซับซ้อนมากกว่าคำนิยามที่ถูกกำหนดไว้
    คำว่า “อาชีพ” ในปัจจุบันมักถูกผูกเอาไว้กับระบบการศึกษา โดยเฉพาะที่เรียกกันว่าระบบการศึกษากระแสหลัก ซึ่งมีหลักสูตรที่ถูกพัฒนาออกมาให้ผู้เรียนมีอาชีพเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์ในภาพใหญ่ของประเทศที่อยู่บนฐานของระบบทุน เช่น ภาคเศรษฐกิจ ภาคสาธารณสุข ภาคการศึกษา ภาคเทคโนโลยี เป็นต้น แล้วถ้าอาชีพใดยิ่งเป็นที่ต้องการของระบบ อาชีพนั้นก็จะมีงานรองรับในสังคม ยิ่งมีความต้องการมาก สิ่งตอบแทนที่เข้ามาก็ยิ่งสูงขึ้น ทั้ง เงินตรา ตำแหน่ง เกียรติยศ รวมไปถึง ลำดับชั้นทางสังคม และในทางกลับกันอาชีพใดที่ไม่ได้มีความจำเป็นกับภาพการบริหารประเทศ สิ่งที่ตามมาคือการลดทอนคุณค่าของอาชีพนั้น จากเดิมที่อาจจะเป็นสาขา จบไปเพื่อทำสิ่งนั้น ก็แปรเปลี่ยนไปเป็นรายวิชา หรือหนักเข้าก็ตัดออกไปจากระบบการศึกษา ซึ่งการคัดกรองด้วยระบบการศึกษาเช่นนี้นี่เอง ยิ่งนำมาสู่การสร้างความกลัวที่เกาะกุมขึ้นในใจของผู้คนประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศโดยไม่รู้ตัวโดยไม่รู้ตัว  
    ผมเคยได้รับคำแนะนำในสมัยที่ผมเรียนมัธยมปลายว่า “เรียนสายวิทย์ไว้ ต่อไปอยากทำงานสายศิลป์ก็สามารถไปทำได้” คำแนะนำเช่นนี้ มองผ่าน ๆ ก็ดูเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมดีกับสถานการณ์ของสังคมในยุคนั้น เพราะการเรียนในสายวิทย์ จะดูมีภาษี และรายวิชาที่สามารถต่อยอดไปได้ไกลกว่า แต่ถ้ากลับไปดูให้ลึกลงไป คำแนะนำดังกล่าวแฝงมาด้วยความกลัวบางประการต่ออนาคตหลังการเรียนจบ ไม่ว่าจะเป็น กลัวไม่มีอันจะกิน กลัวจะจน กลัวที่จะตกงาน กลัวที่จะไม่เป็นที่ยอมรับ และอีกสารพัดของความกลัวที่เปลี่ยนหน้าตาให้เข้ากับคนแต่ละคน
    เมื่อคำแนะนำแบบนี้ลอยเข้ามาสู่การรับรู้ของผมมากขึ้น ความรู้สึกกลัวก็ก่อรูปร่างขึ้นอยู่ในใจและกลบความฝันในวัยเด็กไปจนหมดสิ้น เพราะว่าความฝันไม่ได้จำเป็นในการเอาตัวรอดในสังคม แล้วสิ่งที่ตามมาจึงเหลือเพียงแค่การกระเสือกกระสนทางการศึกษาเพื่อนำไปสู่อาชีพที่ต้องการ เพียงเพื่อให้ชีวิตมั่นคง และจะได้ไม่ต้องกลัวอีกต่อไป
อาชีพจึงมีนิยามที่เปลี่ยนไป
 
อาชีพไม่ใช่คำตอบ
    ผมเป็นคนหนึ่งที่สัมผัสได้ถึงความว่างเปล่าในใจจากการทำงาน ผมรู้ว่าผมขาดบางสิ่งบางอย่าง แต่ก็ไม่ทราบว่าผมขาดสิ่งใดไป ผมลองเปลี่ยนงานจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งเพื่อค้นหาว่าจะมีสิ่งใดที่เข้ามาช่วยเติมเต็มความว่างเปล่าในใจผมได้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีสิ่งใดที่มาเติมเต็มได้ 
    จนกระทั่งการเดินทางในสายอาชีพของผมมาถึงทางตัน ตำแหน่งสุดท้ายที่ผมทำคือเจ้าหน้าที่ประกันคุณภาพ ผมมีหน้าที่ในการวางระบบคุณภาพด้วยความเชื่อที่ว่า การที่ผมลงทุนทำงานหนักจะช่วยให้เพื่อนร่วมงานของผมมีความสุขในการทำงาน แล้วถ้าเขามีความสุข ผมก็จะเป็นสุขด้วย 
        ผมยังจำได้ดี วันที่บริษัทได้การรับรองจากบริษัทต่างชาติ ช่วงเช้าผมรู้สึกภูมิใจและหวังลึก ๆ ว่าเพื่อน ๆ จะทำงานได้อย่างสบายมากขึ้น พอตกช่วงบ่ายเพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่งเดินเข้ามาและบอกกับผมตรง ๆ ว่า “สิ่งที่ผมทำนั้นมันเป็นการสร้างภาระให้กับพวกเขา” ผมรู้สึกจุกอยู่กลางอก พูดอะไรไม่ออก ผมหมดศรัทธากับอาชีพที่ผมทำ ไร้เรียวแรง ว่างเปล่า จนเกิดคำถามว่า “ผมเกิดมาเพื่อสิ่งใด ?” ซึ่งคำถามนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยน ผมหยุดการหางานใหม่ แต่เริ่มหันเข้าสู่วิถีการเรียนรู้ตนเอง 
 
ความฝันคือต้นทางของชีวิตที่มีความหมาย
    ปัจจุบันผมกำลังเดินอยู่บนเส้นทางของการเป็น “กระบวนกร” ยิ่งผมเดินไปมากเท่าไร ผมก็ยิ่งตระหนักได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าภาพฝันที่ผมมีกับสิ่งที่ผมเลือกทำในฐานะกระบวนกรนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ผมได้ช่วยและได้เห็นคนตรงหน้าเติบโตขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ณ เวลานี้อาจยังไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่ที่ผมรับรู้ได้คือความสุขที่ผมได้รับ แม้บางช่วงอาจจะรู้สึกยากลำบาก บางช่วงอาจจะท้อจนอยากหลีกหนี แต่ภาพฝันที่ปรากฏขึ้นชัดในใจทำให้รู้ว่าสิ่งที่ผมทำนั้น คือเหตุผลที่ผมมายืนอยู่ที่จุดนี้
    ความฝันในวัยเด็กจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการใช้ชีวิต เนื่องจากความฝันนั้นเป็นเหมือนเบาะแสสู่การค้นหาว่าตัวเราเกิดมาเพื่อสิ่งใด ซึ่ง ปาร์คเกอร์ เจ พาล์เมอร์ ผู้เขียนหนังสือ เสียงเพรียกแห่งชีวิต (Let Your Life Speak) เรียกสิ่งนี้ว่า ภารกิจของชีวิต (Vocation) การค้ันพบเหตุผลของการมีชีวิตนี้ช่วยให้เรามีความสุข อยากตื่นขึ้นมาทุก ๆ วันเพื่อไปใช้ชีวิต พร้อมกับมีพลังที่จะใช้ชีวิตถึงแม้ว่าจะเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก 
    ผู้คนในสังคมมีแนวโน้มที่จะนโลกใบนี้ถูกกรอบของ “อาชีพ” ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดจากระบบต่าง ๆ ครอบงำชีวิตโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้ารู้เช่นนี้แล้ว การปล่อยให้ชีวิตของเราเป็นไปตามครรลองของระบบก็คงเป็นการไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองสักเสียเท่าไร ตอนนี้คงเป็นเวลาที่ดีที่พวกเราทุกคนควรจะกลับไปรับรู้ถึงภาพฝันของตนเองอีกครั้งหลังจากทอดทิ้งมันไปความฝันไว้มากกว่าค่อนชีวิต แล้วรวบรวมความกล้าจากใจของเราที่จะผสานความฝันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต เพื่อก้าวไปสู่การมีวิถีชีวิตที่มีความหมายต่อตัวเราอีกครั้ง
 
ขอเป็นกำลังใจให้นักเดินทางแห่งชีวิตทุกคน
เดโช นิธิกิตตน์ขจร
 
Back To Top