การพิจารณาสมณสารูปของพระภิกษุ

ดำเนินการเสร็จแล้ว

ดร. อัญชลี ปิยปัญญาวงศ์
ดร.สุปรียส์ กาญจนพิศศาล

  • 01 มกราคม 2562

 

บทความประจำปี : 2562

ชื่อบทความ : การพิจารณาสมณสารูปของพระภิกษุ


ชื่อวารสาร : วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 26 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม – สิงหาคม 2562


ผู้เขียน : ดร. อัญชลี ปิยปัญญาวงศ์ และ ดร.สุปรียส์ กาญจนพิศศาล


ประเภทของบทความ : บทความวิจัย


อ้างอิง : อัญชลี ปิยปัญญาวงศ์ และ สุปรียส์ กาญจนพิศศาล. (2562). การพิจารณาสมณสารูปของพระภิกษุ. วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 26 (2), 28-73. Retrieved from https://www.tci-thaijo.org/ index. php/ jbscu/article/view/185027

 


บทคัดย่อ


          บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามโนทัศน์เกี่ยวกับสมณสารูปและเกณฑ์การพิจารณาสมณสารูปของพระภิกษุ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า คำว่า “สมณสารูป” มิใช่เกณฑ์ตัดสินความถูกต้องเหมาะสมของการแสดงออกภายนอกของพระภิกษุเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงแล้วสมณสารูปที่สำคัญเป็นเรื่องภายในหรือระดับความบริสุทธิ์ของจิต โดยเฉพาะถ้าหมายถึงสมณะในความหมายของพระอริยบุคคลถ้าพระภิกษุรูปใดมีสมณสารูปภายในคือมีคุณธรรมที่เหมาะสมกับความเป็นสมณะ สมณสารูปภายนอกก็จะตามมาเอง โดยหลักการ บุคคลสามารถพิจารณาสมณสารูปของพระภิกษุได้ทั้งภายในและภายนอก สำหรับเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาสมณสารูปภายใน คือ ระดับความสามารถของจิตที่สามารถละสังโยชน์ได้ ส่วนการพิจารณาสมณสารูปภายนอกต้องอาศัยบทบัญญัติแห่งศีลและอภิสมาจารต่างๆ เป็นเกณฑ์ สำหรับการกระทำที่ซับซ้อน ผู้พิจารณาควรพิจารณาที่ความสอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาร่วมด้วย อันประกอบไปด้วยเกณฑ์พื้นฐาน 4 กลุ่ม คือ 1) ความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย 2) ความเป็นคนมักน้อย สันโดษ และไม่สะสม 3) การเป็นผู้ขัดเกลากำจัดกิเลส และมีอาการน่าเลื่อมใส และ 4) การเป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะและการปรารภความเพียร อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ บุคคลทั่วไปอาจพิจารณาสมณสารูปภายนอกของพระภิกษุได้ แต่อาจเป็นการยากที่จะพิจารณาสมณสารูปภายในด้วยข้อจำกัด 2 ประการ คือ 1) ข้อจำกัดทางญาณวิทยาที่จะระบุว่าพระภิกษุรูปหนึ่งๆ เป็นพระอริยบุคคลหรือไม่ หรือเป็นพระอริยบุคคลระดับใด และ 2) ข้อจำกัดทางความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระวินัยของพระภิกษุ ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาตัดสินความมีสมณสารูปของพระภิกษุในทุกกรณีจึงควรเริ่มที่การตระหนักถึงข้อจำกัดทั้งสองประการดังกล่าวนอกจากนี้ บุคคลยังควรพิจารณาตัดสินความมีสมณสารูปของพระภิกษุด้วยใจที่ปราศจากอคติอีกด้วย เพื่อให้การตัดสินเป็นไปอย่างรอบคอบและยุติธรรม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อการพัฒนาสมณสารูปของพระภิกษุต่อไป


คำสำคัญ : สมณสารูป, การพิจารณา, พระภิกษุ

 

Back To Top