รายละเอียดงานประชุมวิชาการ

งานประชุมวิชาการทางจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 10

จิตตปัญญาสิบห้าปี "การเติบโตจากภายในสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์"

วันที่ 25 - 26 กุมภาพันธ์ 2565

ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อ. ไทรโยค จ. กาญจนบุรี


ที่มาและความสำคัญ

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2549 สภามหาวิทยาลัยมหิดลได้มีมติให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์จิตตปัญญาศึกษาขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ตามแนวจิตตปัญญาศึกษาและการพัฒนามิติด้านในของมนุษย์ให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญและมุ่งหวังที่จะเห็นการศึกษาของไทยได้นำเอาแนวทางนี้มาบูรณาการในการจัดการศึกษาแก่สังคมอย่างจริงจัง

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา จิตตปัญญาศึกษาที่ตั้งต้นจากกลุ่มจิตวิวัฒน์ ก็ได้ต้อนรับและสรรค์สร้างแนวคิดกับการทำงานร่วมกับปราชญ์ ผู้รู้ นักคิด นักปฏิบัติ รวมถึงองค์กรและสถาบันต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นเครือข่ายและกลุ่มหน่วยงานที่พัฒนาความเป็นจิตตปัญญาให้งอกงามเรื่อยมา ทั้งในส่วนการทำงานที่เป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงส่วนท้องถิ่น ชุมชน และประชาสังคม เราเริ่มมีเพื่อนในหลายแวดวงที่เริ่มหันมาพูดภาษาใจ เริ่มต้อนรับการเรียนรู้ที่ผ่านมิติด้านในและนำความเป็นมนุษย์มาบอกเล่าและเติมเต็มให้แก่กันและกัน เรามีคุณครูที่สนใจชีวิตของนักเรียนมากกว่าการบ้าน เรามีแพทย์พยาบาลที่ดูแลใจพร้อม ๆ กับดูแลกาย เรามีผู้นำที่พร้อมจะเดินเคียงข้างมากกว่าเดินนำ และเรามีประชาสังคมที่สนใจสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติด้วยมองว่านั่นคือบ้านหลังใหญ่ของพวกเราและลูกหลาน กระทั่งถึงวันนี้กว่า 15 ปีแล้ว ที่สังคมรู้จักความเป็นจิตตปัญญาศึกษาในชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่คุณค่าเบื้องลึกนั้นเหมือนกันคือ การขับเคลื่อนโลกของเราด้วยหัวใจที่จะนำพาความเป็นมนุษย์ที่เต็มสมบูรณ์ให้กลับคืนมา

งานประชุมวิชาการจิตตปัญญาศึกษาครั้งที่ 10 “จิตตปัญญาสิบห้าปี เราจะโตไปด้วยกัน” เป็นอีกวาระหนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้เครือข่ายในทุกวงการที่ได้นำเอาจิตตปัญญาศึกษาไปขับเคลื่อน ให้ได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อกัน บนความเชื่อพื้นฐานที่ว่า องค์ความรู้อันเกิดจากภูมิปัญญาร่วม (Collective wisdom) คือองค์ความรู้ที่จะงอกงามและเกื้อกูลต่อสังคมและโลกได้โดยแท้


วัตถุประสงค์

- เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมอง ผลงาน ประสบการณ์ตรงจากชีวิตและการทำงานของนักคิด นักปฏิบัติบนหนทางอันหลากหลายที่มีมิติจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์ที่แท้ ตลอดระยะเวลา 15 ปีนับตั้งแต่จิตตปัญญาศึกษาได้เข้าไปหยั่งรากอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม

- เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการในการนำเสนอแนวคิดและผลงานวิจัยในศาสตร์ด้านจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการและการขยายผลของการเรียนรู้ ตลอดจนการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านจิตตปัญญาศึกษาสู่สังคม

- เพื่อขยายเครือข่ายการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลและองค์กรต่างๆ อันนำไปสู่ผลกระทบต่อสังคมและนโยบายในวงกว้างต่อไป


กลุ่มเป้าหมาย

จำนวนประมาณ 130 คน ประกอบด้วย

- หน่วยงานและกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้รับทุนโครงการหยั่งรากจิตตปัญญา รวมถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 50 คน

- ประชาชน ผู้ที่สนใจทั่วไป จำนวน 50 คน

- ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาจากศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 30 คน


ผลที่คาดว่าจะได้รับ

- ผู้เข้าร่วมงานได้รับประสบการณ์ตรงอันเกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน กับบุคคล กลุ่มคน และหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายทางจิตตปัญญาศึกษา เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและขับเคลื่อนงานในบริบทต่าง ๆ สู่การพัฒนามิติความเป็นมนุษย์ที่แท้ให้งอกงามต่อไป

- การพบปะปฏิสัมพันธ์กันในงานจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของเครือข่ายแห่งความร่วมมือ ที่จะเรียนรู้และทำงานร่วมกันอย่างสืบเนื่อง เพื่อผลักดันให้จิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงได้หยั่งรากและเติบโตต่อไปในหลากหลายภาคส่วนของสังคมไทย

- การแลกเปลี่ยนทางวิชาการจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์และต่อยอดงานวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การปักหลักและสถาปนาศาสตร์ทางด้านนี้อย่างเป็นระบบในโลกวิชาการ

- การจัดงานประชุมวิชาการเป็นการสื่อสารความเคลื่อนไหวของศาสตร์การเรียนรู้นี้ออกไปสู่สังคม เกิดเป็นแนวทาง ข้อชี้แนะ หรือนโยบายที่จะทำให้สังคมเกิดการรับรู้และตระหนักเห็นความสำคัญของการหลอมรวมมิติด้านจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์ให้กลับเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน