บรรยากาศพิธีเปิด งานประชุมวิชาการระดับชาติจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2567 เรื่อง “จิตตปัญญาศึกษากับความท้าทายในการพัฒนามนุษย์” และการประชุมโครงการหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษา สู่สังคมแห่งความสุ

  • รศ.ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ
  • 22 สิงหาคม 2567

 

          บรรยากาศพิธีเปิด งานประชุมวิชาการระดับชาติจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2567 เรื่อง “จิตตปัญญาศึกษากับความท้าทายในการพัฒนามนุษย์” และการประชุมโครงการหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษา สู่สังคมแห่งความสุข โดยในวันนี้ (22 สิงหาคม 2567) ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อธิศานต์ วายุภาพ รักษาการรองอธิการบดี ฝ่ายกลยุทธ์แผนงานและงบประมาณ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในการเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติจิตตปัญญาศึกษาในครั้งนี้ ภายในงานประกอบไปด้วยเวทีปาฐากถา เวทีเสวนา กระบวนการเรียนรู้และบูธกิจกรรมโดยศิษย์เก่าและนักศึกษาจิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
 
         
          เวทีปาฐากถา หัวข้อ “การพัฒนาคน เพื่อสร้างสุขภาวะให้กับสังคม” โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้เกียรติมาเป็นองค์ปาฐก ซึ่งได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการพัฒนาคนที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาความรู้และประสบการณ์ การดูแลสุขภาวะ การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นความสามารถในการพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่าเราทุกคนเรียนและพัฒนาได้ นับเป็นปาฐากถาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์ในโลกยุคปัจจุบัน และในสังคมที่มีความซับซ้อน แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของสังคมและการพัฒนามนุษย์ในฐานะปัจเจกชนที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
 
          
          “ฟื้นฟูจิตวิญญาณแห่งการศึกษา”
วิทยากรผู้ร่วมเสวนา
- อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้อำนวยการ Bangkok Forum / ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม
- อ.อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการเรียนรู้ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ. ดร. นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ. ดร. ภญ.ชรรินชร เสถียร อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดำเนินรายการ
การเสวนาสะท้อนภาพการศึกษาในสังคมปัจจุบัน และจุดเปลี่ยนแห่งการศึกษาในหลายยุคสมัย ที่แสดงให้เห็นจุดยืนที่สำคัญของการฟื้นฟูจิตวิญญาณแห่งการศึกษาและผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนด้านการศึกษาในปัจจุบัน ประสบการณ์สำคัญ ๆ ของวิทยากรผู้ร่วมเสวนา นำพาให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้กลับไปสืบค้นภายในตนเองในแง่มุมต่าง ๆ และเสนอแนวคิดที่เราจะก้าวข้ามกรอบความคิดความเชื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างการตระหนักรู้และการสร้างพื้นที่แห่งการยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ภายในตนเองและเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูจิตวิญญาณการศึกษาอย่างแท้จริง
 
 
          ห้องย่อยที่ 1 การนำพาการเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
“จากจุดเริ่มต้นสู่ความท้าทายของผู้เดินทางภายใน”
กิจกรรมภาคบ่ายวันแรกในงานประชุมวิชาการระดับชาติจิตตปัญญาศึกษาครั้งที่ 11
ห้องย่อยที่ 1 การนำพาการเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
กระบวนการเรียนรู้ที่เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นองค์ประกอบสำคัญและแนวทางของการนำพาการเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ รวมทั้งแนวทางในการดูแลสุขภาวะทางจิตวิญญาณแบบองค์รวมของตนเอง ผ่านการเรียนรู้ที่เคารพและเชื่อมั่นในประสบการณ์หรือศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วม เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนตกผลึกร่วมกันและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการนำพาการเรียนรู้ให้กับผู้คน
กระบวนกร
- อ.จรายุทธ สุวรรณชนะ ศิษย์เก่าจิตตปัญญาศึกษาและกระบวนกรอิสระที่มีประสบการณ์นำพาการเรียนรู้ที่ส่งเสริมเกื้อกูลให้คนหลังกำแพงและกลุ่มคนชายขอบได้เกิดการพัฒนสุขสภาวะทางจิตวิญญาณมายาวนานกว่า 15 ปี
- อ. นันธนันท์ โพธิ์รักษาเจริญ ศิษย์เก่าจิตตปัญญาศึกษาและกระบวนกรจิตตปัญญาผู้ออกแบบและนำพาการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ผู้เชี่ยวชาญในการเต้นแทงโก้เพื่อการพัฒนามิติภายใน
 
 
          ห้องย่อยที่ 3 “My Perfect Day” ธรรมดาที่แสนพิเศษ
“จากจุดเริ่มต้นสู่ความท้าทายของผู้เดินทางภายใน”
กิจกรรมภาคบ่ายวันแรกในงานประชุมวิชาการระดับชาติจิตตปัญญาศึกษาครั้งที่ 11
ห้องย่อยที่ 3 “My Perfect Day” ธรรมดาที่แสนพิเศษ
กระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงที่ชวนให้ผู้เข้าร่วมได้สำรวจฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปของชีวิต และตั้งคำถามกับความหมายของ "ชีวิตที่ดี" ตามแบบเดิมๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กับมุมมองใหม่ต่อคุณค่าในการดำรงอยู่
กระบวนกร
- อ.ยิ่งยอด หวังประโยชน์ ศิษย์เก่าจิตตปัญญาศึกษาและกระบวนกรอิสระ
- อ.ธนิดา อภิสิทธิ์ ศิษย์เก่าจิตตปัญญาศึกษาและนักออกแบบการเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาและศิลปะเพื่อการรู้จักตนเอง
 
          
          ห้องย่อยที่ 4 “เคลื่อนกาย...ได้ยินใจ” กระบวนการเรียนรู้ผ่านร่างกายที่เชื่อมโยงกับจิตใจ
“จากจุดเริ่มต้นสู่ความท้าทายของผู้เดินทางภายใน”
กิจกรรมภาคบ่ายวันแรกในงานประชุมวิชาการระดับชาติจิตตปัญญาศึกษาครั้งที่ 11
ห้องย่อยที่ 4 “เคลื่อนกาย...ได้ยินใจ” กระบวนการเรียนรู้ผ่านร่างกายที่เชื่อมโยงกับจิตใจ
กระบวนการเรียนรู้ที่เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างร่างกายและจิตใจ ทำความรู้จักกระบวนการเรียนรู้ผ่านฐานกายที่ทำให้เกิดการรู้จักและเข้าใจตัวเอง
กระบวนกร
- อ.ฐาณารัตน์ สุธนากุลวิทย์ ศิษย์เก่าจิตตปัญญาศึกษาและนักจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายในแนวทาง Movement-Based Expressive Arts / Registered Somatic Movement Educator
- อ.ดร. อริสา สุมามาลย์ ศิษย์เก่าจิตตปัญญาศึกษาและอาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
 
 
          เวทีสร้างความร่วมมือและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไปในอนาคต ในงานประชุมวิชาการระดับชาติจิตตปัญญาศึกษา
วงเสวนา : การศึกษาที่สมองกับหัวใจจับมือกันในชั้นเรียน : แสงสว่างในพื้นที่สีเทาของเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบ
เวทีสร้างความร่วมมือที่นำเสนอการทำงาน “ห้องเรียนแห่งความสุขในสถานศึกษาอาชีวะ ในโครงการหยั่งรากจิตตปัญญาฯ” ที่ช่วยแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา รวมถึงแนวการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับการเคารพหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Education) ในโครงการอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน กระทรวงศึกษา คุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล ในการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
ตลอดจนการสื่อสารสร้างความเข้าใจการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนามิติภายในของมนุษย์ให้เป็นที่ประจักษ์สู่สาธารณะ
 
          
          ปิดท้าย การจัดประชุมวิชาการระดับชาติจิตตปัญญาศึกษาครั้งที่ 11 และการประชุมหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษาสู่สังคมแห่งความสุขวันแรก ด้วยการ FOCUS GROUP ของคณะทำงานโครงการหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษาสู่สังคมแห่งความสุข สนับสนุนโดยสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยคณะทำงานโครงการหยั่งรากฯ ในแต่ละพื้นที่ ได้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน อภิปรายและนำเสนอประสบการณ์ความก้าวหน้าของโครงการหยั่งรากฯในปีที่ผ่านมา สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานกับกลุ่มคนผู้ทำงานด้านการพัฒนามิติภายใน ภายใต้โครงการหยั่งรากจิตตปัญญาศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และการสรุปผลเพื่อการพัฒนาและการยกระดับโครงการต่อไปในอนาคต
 
Back To Top