บันทึกงานเสวนา “ จิตตปัญญาศึกษา: การเปลี่ยนแปลงจากภายในครู สู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในระดับพื้นที่” วันที่ 28 ก.พ. 68 เวลา 15.30-17.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 11 โรงแรมทริปเปิ้ลวาย สามย่านมิตรทาวน์
ผู้ร่วมเสวนาโดย
รศ.ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จตุรวิทย์ นิโรจน์ธนรัฐ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครสวรรค์
ณัฐพร สุวรรณกนิษฐ ผู้อำนวยการ รร.เทศบาลวัดไทรเหนือ ท.8
ฐิติมา สุขประเสริฐ ผู้อำนวยการ รร.สามแยกเจ้าพระยา
มณฑาทิพย์ ริดน้อย ครู รร.สามแยกเจ้าพระยา
ผู้ดำเนินรายการ โดย รศ. ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
จัดโดย อ.ดร.อริสา สุมามาลย์ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นแนวทางการศึกษาที่ผสานการสำรวจใคร่ครวญและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตนเอง สังคม และความเชื่อมโยงกับโลกอย่างลึกซึ้ง แนวทางนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าภายในของตนเอง ค้นหาความหมายของชีวิต และมองเห็น "ความเป็นมนุษย์" ของกันและกัน มากกว่าการเน้นเพียงความรู้ทางวิชาการ
คณะอาจารย์ในโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มเรียนรู้และนำไปจิตตปัญญาศึกษาไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนกับนักศึกษา การพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยกันมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว เมื่อมีโครงการหยั่งรากสู่สังคมแห่งความสุข โดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามาหนุนเสริมการทำงาน โดยงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ก็ยิ่งทำให้เกิดการขยายผลไปยังไปชุมชนภายนอก โดยพื้นที่การดำเนินงานที่สำคัญในปี 2567 คือ โรงเรียนสามแยกเจ้าพระยา ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนและครูได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษา รวมถึงไปศึกษาดูงานจิตศึกษาที่โรงเรียนลำปลายมาศ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในตัวครู แนวทางการสอน การจัดตารางเรียน และการสร้างคาบวิชาใหม่ ต่อเนื่องด้วยการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านจิตตปัญญาศึกษา ในปี 2568
ในปีเดียวกันนี้ ทีมอาจารย์จากมหิดลนครสวรรค์ยังได้ขยายการทำงานร่วมกับเทศบาลและโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อทำงานกับเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และยังส่งเสริมบทบาทของเทศบาลในการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษาร่วมกับโรงเรียน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในหน่วยงาน และการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาครูและโรงเรียน ซึ่งจะช่วยเอื้อต่อทำงานร่วมกับทีมมหิดลนครสวรรค์ในระยะยาว
ความโดดเด่นทั้งในด้านการพัฒนาจิตตปัญญาศึกษาในหลากหลายหน่วยงาน การสร้างเครือข่าย การประสานความร่วมมือ และการใช้งบประมาณร่วมจากหลายภาคส่วน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า "การเปลี่ยนแปลงในสังคมที่สำคัญเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยการบังคับ แต่เกิดจากหัวใจของผู้ลงมือทำจริง ๆ" ในงานเสวนานี้เราจึงได้เชิญทั้งตัวแทนอาจารย์จากโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารจากเทศบาลนครนครสวรรค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูจากโรงเรียนทั้งโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาล และโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ร่วมฟังที่สนใจได้นำไปปรับใช้เพื่อร่วมกันพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาในระบบการศึกษา
งานเสวนานี้จัดขึ้นในการประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “สุขภาวะทางปัญญา ’68 : จิตวิญญาณ การร่วมทุกข์ ความหวัง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมพบเพื่อนใจ Soul Connect Fest 2025 HUMANICE 27 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2568 ณ สามย่านมิตรทาวน์