ความหมายและความสุขของการฟัง คุณกกกร เบญจาธิกุล (พี่โกโก้)

  • 07 พฤศจิกายน 2567

 

     จุดเริ่มต้นของการทำงานอาสาของพี่โกโก้นั้นเกิดขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อครั้งที่ประสบกับภาวะจิตตกอย่างรุนแรง การได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้เรื่องการเดินทางภายในจิตใจ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำประสบการณ์และต้นทุนที่มีมาสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานอาสาที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมตามประสบการณ์ที่สั่งสมมา ซึ่งการเดินทางภายในจิตใจทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจมิติของการรับฟังที่ลึกซึ้งมากขึ้น

     "เวลาที่เราฟังเรื่องราว เราฟังความรู้สึก มันต่างกัน พอเราฟังความรู้สึก บางทีเราจำไม่ได้ว่าเขาเล่าเรื่องราวอะไร แต่เราจำได้ว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เราอยู่กับความรู้สึกนั้นแล้วเราก็สะท้อนให้เขาเห็นว่ามันเป็นความรู้สึกแบบนี้ และคุณค่าในสิ่งที่ได้จากความรู้สึกนี้คืออะไร"
การเป็นผู้รับฟังที่ดีนั้นเปรียบเสมือนการเป็น "ถังขยะรูรั่ว" ที่รับฟังแล้วปล่อยให้ความทุกข์ไหลผ่านออกไป หรือเป็นเหมือน "สุขาใจ" ที่ช่วยชำระล้างความทุกข์ของผู้อื่น โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะเข้าไปแก้ไขหรือรักษา เพียงแค่ร่วมรับรู้และยืนยันว่าความรู้สึกของพวกเขามีคนรับฟังอยู่ ความสำเร็จของการรับฟังเกิดขึ้นทันทีที่ได้นั่งลงและรับฟังด้วยความตั้งใจ
ในการทำงานอาสาผ่าน "ธนาคารสตรี" ที่มีทั้งเพจและไลน์แอดสำหรับการพูดคุย ทุกการสนทนาถือเป็นความลับเฉพาะ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการระบายความรู้สึก บางครั้งเรื่องราวบางอย่างอาจไม่สามารถพูดคุยกับคนใกล้ตัวได้ หรือแม้จะคุยแล้วก็ได้คำตอบที่ถูกต้องแต่อาจไม่ตรงกับความรู้สึก การมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการระบายจึงเป็นสิ่งสำคัญ

     "ความถูกต้องใช้ได้ แต่ขอให้ตามมาทีหลัง สิ่งที่เราจะไปด้วยกันได้คือความสัมพันธ์ ดูแลความสัมพันธ์ก่อน ความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดได้คือต้องถูกใจกันก่อน"
นั่นคือหลักการสำคัญในการรับฟังคือการตอบรับความรู้สึกก่อนเสมอ เช่น หากมีคนมาเล่าว่าทะเลาะกับแฟนแล้วรู้สึกเศร้าเสียใจ สิ่งแรกที่ต้องทำคือยอมรับและสะท้อนความรู้สึกนั้น เพราะบ่อยครั้งที่คนกำลังมีปัญหาอาจไม่ทันได้ตระหนักถึงความรู้สึกของตัวเอง มักจะมุ่งไปที่การแก้ปัญหาหรือทำให้ความรู้สึกนั้นหายไปโดยไม่ได้ทำความเข้าใจมันอย่างแท้จริง
และการวัดความสำเร็จของการรับฟังนั้นไม่จำเป็นต้องถึงขั้นแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แม้เพียงทำให้ผู้พูดรู้สึกสบายใจขึ้นเพียง 50% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือการได้รับฟังและเข้าใจ ไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด

     ส่วนสำหรับการดูแลตัวเอง สิ่งสำคัญคือการไม่มองชีวิตเป็นเรื่องของการเอาชนะ แต่ให้กลับมาดูแลและให้อภัยตัวเองเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า
"เธอไม่ได้แพ้นะ เธอแค่เหนื่อย"
การพัฒนาตัวเองไม่ควรเป็นเรื่องของการเอาชนะตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดน้ำหนัก การเลิกนิสัยที่ไม่ดี หรือการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพราะเมื่อใดที่เรามองว่าตัวเองแพ้ ความรู้สึกนั้นจะบั่นทอนจิตใจอย่างมาก และเมื่อเห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จก่อนเรา ให้มองว่านี่คือโอกาสที่เราได้อนุญาตให้ใครสักคนได้ไปถึงเป้าหมายของเขา ซึ่งถือเป็นคุณค่าที่งดงามในตัวเอง

     "กลับมาซัพพอร์ตตัวเอง กลับมาบอกคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา เขาจะอยู่กับเราทุกลมหายใจ และที่สำคัญคือในลมหายใจปัจจุบันสำคัญที่สุด"
การกลับมาซัพพอร์ตและชื่นชมตัวเองที่ได้พยายามอย่างเต็มที่ การให้อภัยตัวเองเมื่อรู้สึกผิดพลาด และการเห็นคุณค่าในการที่เราสามารถยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นได้ ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงและมีความสุขมากขึ้น ทั้งในฐานะผู้รับฟังและในการใช้ชีวิตประจำวัน

 

Back To Top