วันพฤหัสบดีที่ 5 และวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2558
ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
จัดโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

-------------------------------------------------------------------------------

หลักการและเหตุผล

จิตตปัญญาศึกษา คือการศึกษาเพื่อการมีชีวิตที่แท้และดีงาม คืนความเป็นมนุษย์สู่ผู้เรียนอย่างหลอมรวมในทุก ๆ มิติ ผลสัมฤทธิ์หลักของจิตตปัญญาศึกษา คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตัวบุคคลด้วยการยกระดับจิตสำนึก เกิดมุมมองและโลกทัศน์อย่างใหม่ที่กว้างขวางขึ้น อีกนัยหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงในระดับฐานรากของชีวิตหนึ่งๆ นี้ ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีงามในตัวคนรอบข้าง ชุมชน และสังคมได้ต่อไป นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานดังกล่าวแล้ว จิตตปัญญาศึกษายังบ่มเพาะผู้เรียนให้เกิดคุณลักษณะ เชิงบวกด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความรักความเมตตา การมีปัญญาตื่นรู้ การตระหนักรู้เท่าทัน การเห็นเชื่อมโยงในสรรพสิ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมนำพาผู้เรียนให้เกิดอิสรภาพภายใน เกิดสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ และส่งผลสู่การมีชีวิต ที่สมดุลขึ้น อันเป็นชีวิตที่ยกระดับสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ชีวิตในสังคมทุกวันนี้ ดำเนินอยู่บนหนทางแห่งมุมมองแบบแยกส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อชีวิตเข้าใกล้วิกฤตหรือถึงทางตัน คนเรามักมุ่งแก้ปัญหาโดยลืมมิติความเป็นมนุษย์ไป ส่งผลให้ชีวิตนั้นๆ ขาดสมดุลและไม่อาจเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ ด้วยความเป็นมนุษย์ได้ถูกลดทอนลงให้มีสภาพเพียงเครื่องจักรหรือกลไก คุณค่าภายในไม่ได้รับการดูแลในยามที่ต้องการมากที่สุด อีกด้านหนึ่ง การศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ผลสำเร็จเชิงประจักษ์ก็ทำให้ผู้เรียนพลาดสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดประการหนึ่งไป นั่นก็คือประสบการณ์แห่งการมีชีวิตที่แท้ ชีวิตของผู้เรียนจึงหยุดนิ่งและหมดชีวิตชีวา เพราะกลายมาเป็นเพียงผู้รับการป้อนโปรแกรมและเนื้อหาที่ไม่เห็นความเชื่อมโยงใดๆ กับชีวิตของพวกเขาเอง

การประชุมวิชาการประจำปี จิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 7 มุ่งเน้นความสำคัญของมุมมองการใช้ชีวิตที่ดีงามและจริงแท้ ภายใต้ชื่องาน “จิตตปัญญาศึกษา : สู่ชีวิตที่ดีงาม (Contemplative Education : The Right Livelihood)” โดยเปิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงซึ่งกันและกัน พื้นที่การเรียนรู้ ในเชิงวิชาการ ตลอดจนการสานสัมพันธ์เครือข่ายของผู้ทำงานเชิงมิติด้านในและการขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญา เพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติจริงเพื่อการมอบคืนความเป็นมนุษย์ที่แท้ให้แก่ การใช้ชีวิตในทุกๆ มิติ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง บนมุมมองแห่งการใช้ชีวิตที่ดีงาม ด้วยกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏบัติการ
    โดยมุ่งเน้นไปที่บริบทของการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย การดูแลสุขภาวะของผู้ป่วยและผู้สูงอายุ และการสร้างสรรค์สื่อสู่สาธารณะและสังคม
  2. เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการในการนำเสนอแนวคิดและผลงานวิจัยในศาสตร์จิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลง ที่เกี่ยวข้องกับมุมมองแห่งการใช้ชีวิตที่ดีงาม
    ตลอดจน การประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เปี่ยมด้วยความเป็นมนุษย์
  3. เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลและองค์กรต่างๆ อันนำไปสู่ผลกระทบ ต่อสังคมและนโยบายในวงกว้างต่อไป

กลุ่มเป้าหมาย

จำนวนประมาณ 300 คน ประกอบด้วย

  1. ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 50 คน
  2. ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 100 คน
  3. หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ สื่อมวลชน จำนวน 100 คน
  4. นักบวช เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป จำนวน 50 คน

รูปแบบการจัดประชุมวิชาการ

การประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษาครั้งที่ 7 นี้ ประกอบด้วยการแสดงปาฐกถาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เวทีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ (workshop) จำนวน 4 เรื่องๆ ละประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง (แนะนำผู้ลงทะเบียนเลือกเข้าร่วมรวม 2 เรื่องใน 2 วัน) การนำเสนอผลงานทางวิชาการ กิจกรรมการปฏิบัติภาวนา นิทรรศการและการจัดกิจกรรมขององค์กรเครือข่ายจิตตปัญญาต่างๆ ประมาณ 10 องค์กร เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติอันหลากหลาย