วันพฤหัสบดีที่ 13 และวันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2557
ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
จัดโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันอาศรมศิลป์
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

-------------------------------------------------------------------------------

หลักการและเหตุผล

วิกฤตความรุนแรงในสังคมไทยที่มีพื้นฐานจากความแตกแยกทางความคิดกำลังก้าวเข้าสู่จุดแห่งการเปลี่ยนผ่าน ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจต่อความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาวะสังคมดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนให้ประเทศชาติก้าวข้ามพ้นสภาวะวิกฤต ดังที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี (2557) ได้กล่าวไว้ว่า “โอกาสอยู่ต่อหน้าเราแล้วที่คนไทยจะมีความฝันอันยิ่งใหญ่ถึงสังคมที่ดีงามอันเป็นที่พึงปรารถนาของทุกคน เป็นประเทศไทยยุคศรีอาริยะ และคนไทยสามารถรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดตามความฝันอันยิ่งใหญ่ได้จริง...เป็นกระแสพลังแห่งจินตนาการใหม่ กระแสพลังทางสังคมใหม่ ที่จะเปิดประตูไปสู่ประเทศไทยยุคใหม่

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการฟื้นฟูสังคมในช่วงเวลาที่ผ่านมา มักมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสถาบันในระดับมหภาค ซึ่งยังเปิดโอกาสให้พลเมืองในฐานะสมาชิกของสังคมเข้ามามีบทบาทในการร่วมเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูประเทศชาติอย่างจำกัด ส่งผลให้คนส่วนใหญ่จัดวางตนเองในฐานะผู้เฝ้ารอผลของการเปลี่ยนแปลงจากผู้นำคนอื่นๆ แทนที่จะเป็นผู้ลงมือกระทำการด้วยตนเอง ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัจเจกบุคคลไม่กล้าริเริ่มลงมือกระทำการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยตนเอง คือ การที่แต่ละคนขาดความตระหนักต่อศักยภาพภายในตนเองที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติสุข ซึ่งความตระหนักรู้ดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนักเนื่องจากบุคคลส่วนใหญ่ขาดเครื่องมือการเรียนรู้ที่จะช่วยเอื้อให้ตนเองสามารถรับรู้ถึงศักยภาพภายในที่จะเป็นต้นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงในระดับที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

จิตตปัญญาศึกษานับเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพภายในของปัจเจกบุคคลให้มีพลังในการฟื้นฟูและสร้างสรรค์สังคมในมิติต่างๆ โดยในปัจจุบันได้มีความพยายามในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเครื่องมือจิตตปัญญาศึกษาในรูปแบบต่างๆ ในสังคมไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคลและกลุ่มนักปฏิบัติวิชาชีพในสาขาต่างๆ ให้สามารถทำงานช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ในบริบทต่างๆ โดยเฉพาะการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพในชีวิตประจำวันและท่ามกลางสภาวะวิกฤตในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน องค์ความรู้และเครื่องมือจิตตปัญญาศึกษาจึงนับได้ว่าเป็นทางออกที่สำคัญที่จะช่วยเอื้อให้บุคคลในสังคมได้พัฒนาศักยภาพภายในตน พร้อมๆ กับพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว การพัฒนาเช่นนี้เองจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างให้เกิดสังคมอารยะต่อไป

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะองค์กรทางการศึกษาที่ดำเนินงานสร้างสรรค์และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา ในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ในมิติทางจิตวิญญาณที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคคล องค์กร และสังคม เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในสังคมไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหรือบริบทใด ให้เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการร่วมฟื้นฟูและสร้างสรรค์สังคมด้วยตนเอง จึงกำหนดการประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษาครั้งที่ 6 ว่าด้วย  “จิตตปัญญาศึกษา...พลังแห่งการฟื้นฟูและสร้างสรรค์สังคม” (Towards a Resilient Society) โดยมีรายละเอียดดังนี้

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในศาสตร์ “จิตตปัญญาศึกษา” โดยเฉพาะในมิติของการฟื้นฟูและสร้างสรรค์สังคม
  2. เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการในการนำเสนอแนวคิดและผลงานวิจัยในศาสตร์ “จิตตปัญญาศึกษา” และที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบต่างๆ ตลอดจน การประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
    และการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม
  3. เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลและองค์กรต่างๆ อันนำไปสู่ผลกระทบต่อสังคมและนโยบายในวงกว้างต่อไป

กลุ่มเป้าหมาย

จำนวนประมาณ 300 คน ประกอบด้วย

  1. ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 50 คน
  2. ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 150 คน
  3. หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ สื่อมวลชน จำนวน 50 คน
  4. นักบวช เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป จำนวน 50 คน

รูปแบบการจัดประชุมวิชาการ

การประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษาครั้งที่ 6 นี้ ประกอบด้วยการแสดงปาฐกถาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เวทีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ (workshop) จำนวน 5 เรื่องๆ ละ 4 ชั่วโมง (แนะนำผู้ลงทะเบียนเลือกเข้าร่วมวันละ 1 เรื่อง) การนำเสนอผลงานทางวิชาการ กิจกรรมการปฏิบัติภาวนา นิทรรศการและการจัดกิจกรรมขององค์กรเครือข่ายจิตตปัญญาต่างๆ ประมาณ 10 องค์กร เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติอันหลากหลาย